ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
10 พฤศจิกายน 2565

ยารักษาโควิดที่บ้าน เทียบประสิทธิภาพแบบไหนดีกว่า เป็นโควิดกินยาอะไร

แม้สถานการณ์ของโรค COVID-19 ในหลายประเทศจะทุเลาลงแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างความกังวลอยู่ในหลายพื้นที่เช่นกัน เมื่อปี 2564 บริษัทยาระดับโลกอย่าง MERCK  และ Pfizer ต่างก็ออกมาประกาศข่าวการคิดค้นยาต้านโควิดชนิดเม็ดได้สำเร็จ ซึ่งยาทั้งสองชนิดมีชื่อว่า ‘โมลนูพิราเวียร์’ (Molnupiravir) ‘แพ็กซ์โลวิด’ (Paxlovid) และ ‘ฟาวิพิราเวียร์’ (Favipiravir)

 

ความเหมือนและความต่างของยาทั้ง 3 ชนิด

ยาทั้งสองชนิดนี้มีผลลัพธ์ที่โดดเด่นในด้านเดียวกันคือ การลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต แต่มีประสิทธิ์ภาพที่แตกต่างกัน คือ

·       ยาโมลนูพิราเวียร์ สามารถลดโอกาสในการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ประมาณ 50% โดยกลุ่มทดลองคือกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรง กลุ่มที่ได้รับยาจริงพบว่ามีอาการรุนแรง 28 รายจาก 385 ราย คิดเป็น 7.8% ในกลุ่มนี้ไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนในกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอกพบอาการรุนแรง 53 รายจากทั้งหมด 377 ราย คิดเป็น 14.1% มีผู้เสียชีวิต 8 ราย

·       ยาแพ็กซ์โลวิด 89% กลุ่มทดลองคือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อยไปจนถึงปานกลาง และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 อย่างที่อาจทำให้มีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคหัวใจ กลุ่มทดลองที่ได้รับยาจริงมีอาการรุนแรง 6 รายจาก 607 ราย คิดเป็น 1% และไม่มีผู้เสียชีวิต ในด้านของกลุ่มควบคุมพบมีอาการรุนแรง 41 รายจาก 612 คน คิดเป็น 6.7% และมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 10 ราย

·       ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. เรียบร้อยแล้ว ยานี้จะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัสและทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถทำลายเชื้อได้หมดหรือเหลือเชื้อในปริมาณน้อยมาก จึงไม่สามารถก่อโรคได้ ซึ่งผู้ป่วย 79% ที่ได้รับยานี้ติดต่อกัน 2 สัปดาห์มีอาการดีขึ้น ซึ่งครึ่งหนึ่งของกลุ่มการทดลองมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา แต่มีข้อควรระวังสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิด Teratogenic Effect หรือเกิดความผิดปกติกับลูกในครรภ์นั่นเอง

 

การแบ่งประเภทการรักษาตามกลุ่มอาการของผู้ป่วย

เนื่องจาก COVID-19 มีอาการแต่ต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนไม่มีอาการ บางคนมีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงบางคนที่มีอาการรุนแรง รวมถึงในบางกลุ่มที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงและมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ ซึ่งกรมการแพทย์ได้ระบุวิธีการรักษาไว้ดังนี้

 

1.        กลุ่มที่ไม่มีอาการ
กลุ่มนี้สามารถรักษาได้โดยการกักตัวที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้ ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ อาจมีการให้ยาฟ้าทะลายโจร แต่จะไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากกลุ่มนี้ผู้ป่วยแข็งแรงมากพอที่จะสามารถรักษาตัวได้เอง

2.        กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีอาการปอดอักเสบ รวมถึงไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น
กลุ่มนี้ถ้าหากมีอาการไม่รุนแรงเกิน 5 วันแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสหรือฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถหายเองได้ แต่ถ้าหากเพิ่งได้รับเชื้อแพทย์อาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์และผุ้ป่วยควรเริ่มรับประทานยาโดยเร็ว

3.        กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น หรือ กลุ่มที่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางแต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
แพทย์จะพิจารณาเลือกให้ยาจากประวัติการได้รับวัคซีนของผู้ป่วย โรคประจำตัว ข้อห้ามการใช้ยา ซึ่งถ้าหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงแพทย์จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถ้าหากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ปัจจัย แพทย์จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาโมลนูพิราเวียร์ และสำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 2 ปัจจัยแพทย์จะพิจารณาให้ยาโมลนูพิราเวียร์ โดยปัจจัยเสี่ยงมีดังนี้

·       ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 60 ปี

·       เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

·       เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ขึ้นไป

·       เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ NYHA Function Class 2 ขึ้นไป

·       เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

·       เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้

·       มีภาวะอ้วน (BMI มากกว่า 25 กก./ตร.ม.)

·       เป็นโรคตับแข็งที่ Child-Pugh Class B ขึ้นไป

·       มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

·       เป็นผู้ติดเชื้อ HIV ที่มี CD4 Cell Count น้อยกว่า 200 เซลล์/ ลบ.มม.

4.        กลุ่มผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบที่มีภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ปอดอักเสบรุนแรงไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการ และได้รับออกซิเจน
ในกลุ่มนี้ผู้ป่วยจะได้รับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) เป็นเวลา 5-10 วันขึ้นอยู่กับอาการ โดยผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งยาเรมเดซิเวียร์เป็นยาชนิดฉีดที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสโดยการขัดขวางการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับยา Corticosteroid (ยาแก้อักเสบ) เพื่อรักษาอาการปอดอักเสบอีกด้วย

 

วิธีการกินยา

·       ยาโมลนูพิราเวียร์: เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ผู้ป่วยต้องได้รับยาภายในเวลา 5 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ โดยรับประทานยาครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและตอนค่ำ นาน 5 วัน

·       ยาแพ็กซ์โลวิด: รับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน

·       ยาฟาวิพิราเวียร์: วิธีการรับประทานจะแบ่งตามน้ำหนักตัว โดยผู้ป่วยที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม ในวันแรกรับประทานยาครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้ง และในวันถัดมารับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัมควรรับประทานยาครั้งละ 12 เม็ด วันละ 2 ครั้งในวันแรก และในวันถัดมาจะลดลงเหลือเพียงครั้งละ 5 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งควรห่างกัน 12 ชั่วโมงเช่นกัน

 

อาการข้างเคียงของยาทั้ง 3 ชนิด

                  ยาทั้ง 3 ชนิดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการรับประทานยาเล็กน้อย โดยมีกลุ่มอาการที่คล้ายกัน ได้แก่ ท้องเสีย รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน แต่ที่แตกต่างกันนั้น ผู้ที่ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์อาจมีอาการเวียนศีรษะด้วย ส่วนยาแพ็กซ์โลวิดนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีความดันสูง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์อาจมีอาการมากกว่ายาทั้งสองชนิดที่กล่าวไป ซึ่งอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปริมาณกรดยูริกในเลือดเพิ่มขึ้น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิวลดลง ค่าเอนไซม์ในตับเพิ่มขึ้น ปวดท้อง มีผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ หอบหืด เจ็บบริเวณคอหอย มีการอักเสบบริเวณจมูก เป็นต้น

 

 

ตัวเลือกยารักษาตามอาการอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการโควิด

              นอกเหนือจากยารักษาโควิดทั้งสองตัวแล้ว ยังมีตัวยาชนิดอื่น ๆ ที่สามารถใช้บรรเทาอาการและรักษาอาการของโรคโควิดได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

·       ยาพาราเซตามอล

- หากมีไข้หรือมีไข้สูงเกิน 37 องศาเซลเซียสควรรับประทานยาพาราเซตามอลทันที ไม่ควรปล่อยให้ไข้สูงเพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

- ข้อควรระวัง: ถ้าทานติดต่อกันนานเกินไป หรือดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย อาจทำให้ตับอักเสบหรือทำงานบกพร่องได้

·       ยาฟ้าทะลายโจร

- สามารถช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรงได้ แต่ไม่สามารถช่วยป้องกันโรค COVID -19 ได้ ควรใช้เฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเท่านั้น ไม่ควรกินเกินวันละ 180 มิลลิกรัม แบ่งกินวันละ 3-4 ครั้ง

- ข้อควรระวัง: ควรเลือกยาที่ผ่านการรับรองจากอย.เท่านั้น ไม่ควรรับประทานยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเกิน 5 วัน หากใช้ไปแล้ว 3 วันแต่อาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ทันที รวมถึงไม่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดความอ้วน และยาต้านไวรัสทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ แพ็กซ์โลวิด และฟาวิพิราเวียร์

·       ยาแก้ไอแบบเม็ด Dextromethorphan

- ใช้รักษาอาการไอ แต่ควรใช้ตามขนาดที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนด และผู้ป่วยต้องยังไม่มีอาการปอดอักเสบร่วมเพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

- ข้อควรระวัง: ยานี้เป็นที่ใช้บรรเทาอาการเท่านั้น ไม่มีผลในการป้องกันเชื้อไม่ให้ลงปอด

·       ยาลดน้ำมูก Chlorpheniramine หรือ CPM

- ใช้ลดน้ำมูก ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการเยอะก็สามารถใช้ได้

- ข้อควรระวัง: ควรระมัดระวังในการใช้กับผู้ป่วยโรคไตและโรคตับบางชนิด หากใช้มากเกินไปอาจทำให้น้ำมูกแห้ง คอแห้ง ปากแห้ง หรือมีอาการง่วงซึมได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

·       ยาแก้แพ้  Fexofenadine

- ใช้ลดน้ำมูก

- ข้อควรระวัง: ใช้เท่าที่จำเป็นและควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

·       ยาละลายเสมหะ

- ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติในการลดความเข้มข้นหรือความเหนียวของเสมหะ ทำให้เสมหะมีความยืดหยุ่น ร่างกายขับออกมาได้ง่ายขึ้น

- ข้อควรระวัง: ในกรณีแพ้ยาผู้ป่วยอาจมีผื่นคัน มีอาการบวมที่ในหน้า ลิ้น หรือคอ ในกรณีที่ผู้ป่วยทานยาในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน กระเพาะอาหารปั่นป่วน

·       ยาพ่นคอ

- ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองและเจ็บคอ รวมถึงช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นภายในลำคออีกด้วย ข้อดีของยาพ่นคือออกฤทธิ์เร็วกว่ายากิน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสที่ยาจะเข้าไปในปอดได้ดีขึ้น

- ข้อควรระวัง: ควรหมั่นทำความสะอาดกระบอกพ่นยาอยู่เสมอ เพื่อสุขอนามัยที่ดี

·       ผงเกลือแร่  ORS (Oral Rehydration Salts)

- ช่วยเพิ่มพลังงาน ทดแทนเกลือแร่และน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป รวมถึงป้องกันอาการรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูญเสียน้ำ หากมีอาการท้องเสียให้ชงเกลือแร่กับน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด แล้วจิบเรื่อย ๆ ทั้งวัน

- ข้อควรระวัง: ผู้ป่วยโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

 

วิธีการรักษาโควิดที่บ้าน

·       แยกตัวออกจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน 7-10 วันหรือจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ เพื่อป้องกันและจำกัดการแพร่กระจาย

·       รับประทานอาหารและทำธุระส่วนตัวในพื้นที่ที่แยกออกจากคนอื่น ๆ

·       ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

·       สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

·       แยกถุงขยะติดเชื้อสำหรับใส่หน้ากากอนามัยและชุดตรวจโควิด

·       จัดห้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

·       รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ

·       หมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นและรับประทานยาเพื่อรักษาตามอาการ

·       ไม่เครียดและกังวลจนเกินไป

 

ในปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 แล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อตรวจเจอว่าเป็นโรคนี้จึงมีอาการไม่รุนแรงเท่ากับในช่วงแรก ดังนั้นเมื่อคุณหรือคนที่บ้านตรวจพบเชื้อไวรัสจึงไม่จำเป็นต้องวิตก หากอาการไม่รุนแรงและไม่ได้รับยารักษาโรค COVID-19 โดยเฉพาะ ก็สามารถใช้ยาที่มีอยู่ในบ้านรักษาตามอาการจนหายเป็นปกติได้เช่นกัน สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้กับบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-services/telehealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       MERCK
https://bit.ly/3B0b09m

·       Pfizer
https://bit.ly/3AzUGe1

·       BBC News
https://www.bbc.com/thai/international-59207074

·       The Standard
https://thestandard.co/merck-vs-pfizer/

·       โรงพยาบาลสมิติเวช
https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/covid19-home-isolation

·       โรงพยาบาลวิชัยเวช
https://bit.ly/3QhxY0h

·       โรงพยาบาลศิครินทร์
https://bit.ly/3pT92Br

·       กรมการแพทย์
https://bit.ly/3RMcpGG

·       คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue041/rama-rdu

·       โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
https://bit.ly/3eQ9Kgr
https://bit.ly/3RYMgny

·       Hfocus
https://www.hfocus.org/content/2022/03/24708

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3Lb4ss3
https://bit.ly/3U6OQtE

·       โรงพยาบาลรามคำแหง
https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/84

·       โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/metered-dose-inhaler

·       บริษัท รักหมอ เมดิคอล จำกัด
https://bit.ly/3xoEUSp

บทความสุขภาพที่สำคัญ