พฤติกรรมของคนทำงานออฟฟิศอย่างเรา ๆ มักจะทำงานติดพันจนไม่ค่อยจะลุกไปไหนอย่างที่ควรจะเป็น หลายครั้งก็ละเลยสิ่งสำคัญอย่างการรับประทานอาหารหรือแม้แต่การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอย่างโรคนิ่วที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ถ้าไม่อยากต้องทรมานกับโรคนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักโรคนี้กันมากขึ้นพร้อมทั้งวิธีการรักษาตัวให้ห่างไกลจากโรคนิ่วกัน
กลไกของโรคนิ่ว
นิ่ว เกิดจากการ “สารก่อนิ่ว” หรือจริง ๆ แล้วก็คือสารหรือแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัสสาวะเรานั่นแหละ ซึ่งได้แก่ แคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลต ยูเรต กรดยูริคและซีลเตอีน โดยจะก่อนิ่วเมื่อสารเหล่านี้มีปริมาณมากเกินไปบวกกับสภาวะที่เอื้ออำนวยก็จะรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนผลึกแข็งลักษณะคล้ายก้อนกรวด หากนิ่วมีขนาดเล็กจะหลุดออกมาเองพร้อมกับปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ก็จะอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย
มีการตั้งสมมติฐานปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วไว้หลายทฤษฎี ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การตกผลึกหรือการตกตะกอนของสารประกอบอิ่มตัวอย่างแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ โดยการตกผลึกนี้จะเกิดในสภาวะที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงมากโดยอาศัยแกนกลางที่ให้ผลึกเกาะรวมกัน จึงทำให้เกิดการตกผลึก รวมถึงเกิดการรวมตัวกันของผลึกทำให้ผลึกมีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนั้นยังมีการค้นพบทฤษฎีของการยับยั้งว่า ในปัสสาวะเองก็มียับยั้งหลายชนิดที่ทำหน้าที่ยับยั้งการติดแกนของผลึกและยับยั้งการเติบโตและรวมตัวของผลึก เช่น ไพโรฟอสเฟต ซิเตรท แมกนีเซียม ซึ่งหากร่างกายขาดสารเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการตกผลึกของสารก่อนิ่วได้
ประเภทของโรคนิ่ว
นิ่วมักจะเริ่มต้นเกิดขึ้นในไต และเลื่อนตำแหน่งไปตามระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีโอกาสตกค้างได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะและบริเวณอื่น ๆ ซึ่งชื่อจะเรียกแตกต่างกันออกไปตามบริเวณอวัยวะที่ตรวจพบ
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
สาเหตุ: มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะแล้วมีการตกตะกอน หรืออาจเกิดจากติดเชื้อซ้ำ ๆ หรือมีสภาวะบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ชายมีขนาดยาวและคดเคี้ยวกว่าของผู้หญิง ทำให้นิ่วมีโอกาสตกค้างได้มากกว่า
อาการ: ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการเมื่อก้อนนิ่วทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองหรือปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้
• รู้สึกปวดท้องส่วนล่าง
• ปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่อวัยวะเพศหรืออัณฑะเจ็บแสบขณะปัสสาวะ
• ปัสสาวะบ่อย
• ปัสสาวะลำบากหรือติดขัด
• ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือเข้มผิดปกติ หรือมีปัสสาวะเป็นเลือด
โรคนิ่วในไต
สาเหตุ: นิ่วในไตอาจจะเกิดจากการมีปริมาณเกลือ แร่ธาตุ และสารต่าง ๆ ในปัสสาวะมากเกินกว่าที่ของเหลวในปัสสาวะจะละลายหรือทำให้สารเหล่านั้นเข้มข้นน้อยลงได้ จึงทำให้เกิดการเกาะตัวเป็นนิ่วในบริเวณไต
อาการ: ก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กมากจะหลุดออกมาได้เองพร้อมกับปัสสาวะ โดยที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด แต่ถ้าก้อนนิ่วเริ่มเคลื่อนตัวไปรอบ ๆ ไตหรือไปยังท่อไตที่เป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น
• ปวดหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง
• ปวดบริเวณขาหนีบ
• รู้สึกปวดบีบเป็นระยะ
• ปัสสาวะเป็นเลือดหรืออาจมีสีแดง สีชมพูและสีน้ำตาล
• ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ
• รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย
• ปัสสาวะได้น้อย
• อาจมีอาการกรวยไตอักเสบร่วมด้วย
โรคนิ่วในถุงน้ำดี
สาเหตุ: ถุงน้ำดีเป็นถุงขนาดเล็กที่อยู่ใต้บริเวณตับ มีหน้าที่เก็บน้ำดีที่สร้างมาจากตับ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าโรคนิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากสาเหตุใด แต่แพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีมากเกินไป หรือมีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในน้ำดีมากเกินไป จนก่อตัวตกเป็นตะกอนละกลายเป็นนิ่วในที่สุด หรือกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีไม่สามารถบีบตัวได้เพียงพอที่จะบีบคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีออกไปได้หมด ทำให้มีความเข้มข้นในถุงน้ำดีมากและสุดท้ายก่อตัวเป็นนิ่ว นิ่วถุงน้ำดีจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
อาการ: นิ่วในถุงน้ำดีมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการป่วย แต่หากว่าก้อนนิ่วไปอุดตันอยู่ที่ปากทางออกของถุงน้ำดี ผู้ป่วยจะแสดงอาการ คือ
• อาจมีอาการปวดท้องรุนแรงโดยเฉพาะช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวา
• อาจปวดร้าวไปถึงบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา
• รู้สึกปวดกลางท้องหรือบริเวณใต้กระดูกหน้าอกกะทันหันและรุนแรง
• คลื่นไส้ อาเจียน
• มีอาการในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเสียดแน่นบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหาร
• มีไข้
• ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา
• ตาเหลือง ตัวเหลือง
• ปัสสาวะมีสีเข้ม
สาเหตุการเกิดโรคนิ่วในระบบปัสสาวะ
• การดื่มน้ำน้อย
หรือดื่มเครื่องดื่มอื่น ๆ มากกว่าน้ำเปล่า ทำให้ปัสสาวะเข้มข้น แร่ธาตุของเสียที่กรองจากไตมีโอกาสตกตะกอนจับตัวเป็นก้อนได้มากขึ้น
• สภาพแวดล้อมและกรรมพันธุ์
คนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีโอกาสเกิดนิ่วง่ายกว่าคนภาคอื่น เพราะระบบเผาผลาญและการดูดซึมคัดกรองเกลือแร่ของคนในภูมิภาคทั้งสองนั้นทำให้มีโอกาสเกิดการตกตะกอนได้ง่าย
• รับประทานอาหารรสจัด
โดยเฉพาะเค็มจัด เช่น หน่อไม้ดอง ปลาร้า ปลาเค็ม ซึ่งจะส่งผลให้ไตทำงานหนักและก่อให้เกิดนิ่วตามมา
• รับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ
แม้แคลเซียมจะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดนิ่วแต่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดนิ่ว ในทางกลับกันหากร่างกายขาดแคลเซียมจะเป็นการเร่งให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมกลับเข้ามาและทำให้เกิดนิ่วได้
• รับประทานเนื้อแดงเป็นประจำ
เพราะในอาหารจำพวกเนื้อแดง เครื่องในสัตว์และเบียร์จะมีพิวรีนสูง ทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกในร่างกาย และหากไปสะสมในไตก็จะนำไปสู่การเป็นนิ่วในไตได้
• รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เส้นใยอาหารต่ำ เช่น หมูติดมัน จะทำให้เกิดการสะสมคอเลสเตอรอลในร่างกาย เมื่อสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีแน่นอน
• สภาวะอ้วน
• มีพฤติกรรมไม่ชอบออกกำลังกายและไม่ชอบรับประทานผัก
• อายุ พบมากในวัยทำงาน อายุ 40 – 60 ปี
• ยาที่รับประทานบางชนิด เช่น Guaifenesin (ยาขับเสมหะ), Triamterene (ยาขับปัสสาวะ), Atazanavir และ Sulfa Drugs
• ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
• ความผิดปกติของกายวิภาคของระบบทางเดินปัสสาวะ
การรักษาและข้อดีข้อด้อยของการรักษาแต่ละประเภท
1. การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดผ่านผิวหนังเข้าไปจนถึงตำแหน่งที่มีนิ่วเพื่อเอาก้อนนิ่วออก และเย็บแผลปิด
ข้อดี:
- ใช้รักษานิ่วได้ทุกประเภทและทุกขนาด
ข้อด้อย:
- มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่
- อาจทำให้ไตมีประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง เพราะการผ่าตัดผ่านเนื้อไตเพื่อเอานิ่วออกจะทำให้ไตเกิดพังผืดจากแผลเป็น ทำให้เซลล์ไตบางส่วนตายและมีจำนวนลดลง
- เสี่ยงเลือดออกจากตำแหน่งที่ได้รับการผ่าตัด
2. การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL) เป็นการใช้คลื่น Shock Wave ส่งผ่านผิวหนังไปยังก้อนนิ่ว เพื่อให้ก้อนแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และไหลหลุดออกมากับปัสสาวะโดยไม่ต้องผ่าตัด
ข้อดี:
- ไม่มีแผลผ่าตัด
ข้อด้อย:
- อาจทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ และไตช้ำ และทำให้เกิดแผลเป็นข้างใน รวมถึงอาจเสียเซลล์ไตไปบางส่วนได้
- มีโอกาสที่การรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ตัวใหญ่จะไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย เพราะกำลังของคลื่นที่ปล่อยจากเครื่องกำเนิดพลังงานไม่เพียงพอที่จะทะลุผ่านเนื้อเยื่อชั้นต่าง ๆ เข้าไปได้และทำลายก้อนนิ่วให้แตกตัวลงได้
- อาจไม่ได้ผลในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และแข็ง ซึ่งการรักษาแบบนี้ควรใช้กับก้อนนิ่วขนาดไม่เกิน 1-2 cm. หรือค่าความหนาแน่นไม่เกิน 1,000 HU
3. การเจาะรูส่องกล้องผ่านผิวหนัง (Percutaneous Nephrolithotomy หรือ PCNL) เป็นการเจาะรูเล็ก ๆ ประมาณ 1 cm. ผ่านผิวหนังบริเวณหลังที่ตรงกับตำแหน่งตรงกับไตของผู้ป่วย หลักจากนั้นใช้กล้องส่องตามเข้าไป และแพทย์จะทำให้นิ่วแตกออกเป็นขนาดเล็กโดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และนำนิ่วออกมาผ่านทางกล้องที่ส่องเข้าไป
ข้อดี:
- ใช้กำจัดนิ่วได้ทุกขนาดและทุกความแข็ง
- มีแผลขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดเปิดผิวหนัง
- ฟื้นตัวเร็ว
ข้อด้อย:
- อาจทำให้มีเลือดออกบ้าง จำเป็นต้องใช้ศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ
4. การส่องกล้องผ่านท่อไต (Ureteroscopy หรือ URS) เป็นการใส่กล้องส่องตรวจที่มีขนาดเล็กเข้าไปในท่อไต ไปยังตำแหน่งของก้อนนิ่วที่อยู่ภายในท่อไต จากนั้นใช้เลเซอร์ที่ทำให้นิ่วมีขนาดเล็กลง แล้วจึงใช้เครื่องมือนำนิ่วออกมาโดยไม่ต้องผ่าตัด
ข้อดี:
- ไม่มีแผล ฟื้นตัวเร็ว ปลอดภัยสูง
- กล้องมีขนาดเล็กและโค้งงอได้ ทำให้สามารถส่องเข้าไปในพื้นที่จำกัดได้อย่างไม่ทำความเสียหายให้กับไต
- กล้องจะทำให้มองเห็นก้อนนิ่วชัดเจน
- สามารถนำก้อนนิ่วออกมาได้ทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องรอให้นิ่วหลุดออกมาเอง
ข้อด้อย:
- นิ่วไม่ควรมีขนาดใหญ่เกิด 1-2 cm.
- อาจมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่เข้าถึงยาก จำเป็นต้องใช้ศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญสูง
การดูแลตนเอง
· ดื่มน้ำมากกว่าวันละ 8 แก้วหรือ 2 ลิตร
· ดื่มน้ำมะนาว น้ำส้ม เพราะน้ำมะนาวมีซิเตรท ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว การดื่มน้ำมะนาววันละ 1-2 แก้วต่อวัน ช่วยยับยั้งให้นิ่วโตช้า หรือเกิดซ้ำช้าขึ้นในผู้ที่เคยเป็นแล้ว
· ลดเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมออกซาเลตสูง เช่น ชา กาแฟ โกโก้
· รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
· ลดอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ อาหารที่มีรสจัด และอาหารที่มีกรดยูริคสูง
· รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
· ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
· ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่เราเลือกที่จะละเลยในชีวิตประจำวันอาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยที่ไม่พึงประสงค์อย่างโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้ ในขณะเดียวกันแค่ปรับเปลี่ยนให้ความสำคัญกับพฤติกรรมเล็ก ๆ เหล่านั้นกลับเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างแข็งแรงและมีความสุขได้เช่นกัน
สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิตที่ต้องรักษาโรคนิ่วด้วยการผ่าตัด สามารถรับคำปรึกษาเพิ่มเติมจากบริการ กรุงไทย-แอกซ่า แคร์คุณกว่าใคร เพื่อให้คุณมีข้อมูลในการตัดสินใจเข้ารับการรักษามากขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-services/care-coordination
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/bladder-stone
· โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/urinary-stone
· โรงพยาบาลพญาไท3
https://bit.ly/3zR7s9g
· โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://bit.ly/3tOoReO
https://bit.ly/3N6gmCR
https://www.bangkokhospital.com/content/kidney-stones
· โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3QxASiu
https://bit.ly/3y4joDa
https://bit.ly/3y39v8O
https://bit.ly/3y39AJE
· โรงพยาบาลพบแพทย์
https://bit.ly/3QrtYeG
· โรงพยาบาลพญาไท
https://bit.ly/3nSeQtP
