ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
07 กันยายน 2565

ไส้กรอก แฮม เบคอน ตัวการร้ายสู่มะเร็งลำไส้ใหญ่

หากพูดถึงอาหารแปรรูปที่เป็นเมนูโปรดของใครหลายคน เชื่อว่าไส้กรอก แฮม และเบคอนน่าจะถูกนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นสิ่งที่หาซื้อได้สะดวก อุ่นง่าย ปรุงง่าย และมีรสชาติถูกปาก แต่ภายใต้การตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบอย่างลงตัว ของอร่อยเหล่านี้อาจสร้างอันตรายถึงชีวิตเมื่อเราบริโภคอย่างเกินพอดี เพราะสามารถนำไปสู่การป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาตระหนักรู้ถึงภัยใกล้ตัวจากอาหารแปรรูป พร้อมนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้าย

อาหารแปรรูปเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้

                  เชื่อว่าคนไม่น้อยอาจมีข้อสงสัยว่ารับประทานอาหารแปรรูปมากเกินไป จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้อย่างไร คำตอบคือผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์มักมีดินประสิว หรือโพแทสเซียมไนเตรตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้ถูกใส่ลงในอาหารเพื่อให้อาหารมีสีสันชวนรับประทาน ในขณะเดียวกันยังมีคุณสมบัติไม่ต่างจากสารกันบูดประเภทไนไตรต์และโซเดียมไนเตรต ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสำหรับอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์แบบปิดสนิท

                  ซึ่งรูปแบบของสารไนเตรตที่ถูกใช้จะมีอยู่ 4 รูปแบบได้แก่ โพแทสเซียมไนเตรตหรือดินประสิว (KNO3) โซเดียมไนเตรต (NaNO3) โพแทสเซียมไนไตรต์ (KNO2) และ โซเดียมไนไตรต์ (NaNO2) เมื่อร่างกายได้รับสารเหล่านี้มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะไนเตรตจะถูกเปลี่ยนเป็นไนไตรต์โดยแบคทีเรียในระบบย่อยอาหาร ซึ่งไนไตรต์เป็นสารที่ทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงเกิดความผิดปกติ ไม่สามารถนำพาออกซิเจนได้ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกคลื่นไส้ ตัวเขียว หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ออก ไปจนถึงเป็นลมหมดสติ

                  และถ้าหากร่างกายของเราได้รับสารไนเตรตหรือไนไตรต์เรื่อย ๆ เป็นเวลานานจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ เนื่องจากเมื่อสารไนไตรต์ทำปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในสภาวะที่เป็นกรดของกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดสารไนโตรซามีนที่เป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นผู้ทีมีความเสี่ยงหรือผู้ที่รับประทานอาหารแปรรูปดังกล่าวเป็นประจำ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ตามคำแนะนำของแพทย์

มะเร็งลำไส้ป้องกันได้ด้วยการตรวจเชิงรุก

                  สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้คือการตรวจเชิงรุก แม้กระทั่งผู้ไม่มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงน้อย ก็ควรได้รับการตรวจเช่นกัน เพื่อให้รู้เท่าทันสภาวะของร่างกายอยู่เสมอ สำหรับสัญญาณเบื้องต้นที่สามารถสังเกตเองได้ เช่น การขับถ่ายมีความผิดปกติไปจากเดิม อาจท้องผูกสลับกับท้องเสีย มีเลือดออกเมื่อขับถ่าย หรือลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไปเป็นเส้นเล็กลง นอกจากนี้ยังมีอาการปวดท้องที่เป็นผลมาจากการเริ่มก่อตัวของก้อนมะเร็ง ซึ่งระดับความปวดและตำแหน่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

หากพบว่ามีอาการต่าง ๆ ข้างต้น ควรทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) โดยแพทย์จะส่องกล้องขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นท่อยาวผ่านทวารหนักเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่และส่วนปลายของลำไส้เล็กได้ รวมถึงสามารถเก็บชิ้นเนื้อบางส่วนมาตรวจสอบได้อีกด้วย หากมีชิ้นเนื้อที่ผิดปกติแพทย์แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุก 5 – 10 ปี เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป และสำหรับใครที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อห่างไกลจากมะเร็งลำไส้

                   แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน ถือเป็นส่วนสำคัญในการห่างไกลจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทยและประชากรโลก โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณ 3 พันคนต่อปีและในหนึ่งปีนั้นมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณหนึ่งหมื่นสองพันคนต่อปี แบ่งเป็นเพศชายประมาณ 6.8 พันคนและเพศหญิงประมาณ 5.5 พันคน (ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2018) ดังนั้นทุกคนควรเริ่มต้นดูแลตัวเองในเรื่องใกล้ตัวที่สุดอย่างอาหารการกิน หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และหากเป็นไปได้ให้เพิ่มสัดส่วนการรับประทานอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์สดให้มากขึ้น

ที่สำคัญให้หลีกเลี่ยงการทำอาหารด้วยความร้อนจนเกิดความไหม้เกรียม ไม่ว่าจะเป็นการปิ้ง ย่าง หรือรมควัน เพราะควันที่เกิดจากการเผาไขมันในเนื้อสัตว์จะมีสารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon - PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากต้องการหลีกเลี่ยง ให้เน้นเมนูที่ใช้การต้มหรือนึ่งแทน และควรเสริมมื้ออาหารให้มีไฟเบอร์ด้วยผักผลไม้ที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับสภาวะทางสุขภาพของตนเอง และที่ขาดไม่ได้คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ควรลดหรือเลิกให้ได้ เพราะไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง แต่ยังส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่าทุกคนสามารถมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ลดการรับประทานอาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก แฮม เบคอน รวมถึงเปลี่ยนการปรุงอาหารมาใช้การต้ม นึ่ง หรือหม้อทอดไร้น้ำมันแทน และถ้าหากใครที่มีอาการสัญญาณเตือนว่ามีความเสี่ยงก็ควรไปตรวจเช็ก เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และสำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิตที่พบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถรับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหาแพทย์เฉพาะทาง และโรงพยาบาลที่เหมาะสมได้จากบริการ กรุงไทย-แอกซ่า แคร์คุณกว่าใคร ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/care-coordination

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://bit.ly/3EXS6QG

·       คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://bit.ly/3rYTq0E

·       โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://bit.ly/3MuydU6

·       โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/37KDet7

·       คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3sKSmh5

·       Hfocus
https://bit.ly/3Mw5uyH

บทความสุขภาพที่สำคัญ