ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
02 มิถุนายน 2565

เสมหะในคอ สัญญาณบ่งบอกโรค การไอแบบมีเสมหะจึงเกิดตามมา วิธีการรักษา

กระแอม...อะแฮ่ม บางคนอาจจะคุ้นเคยกับเสียงเหล่านี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะได้ยินจากคนรอบข้างหรือจากตัวเอง เป็นเสียงที่บ่งบอกถึงการมีเสมหะที่คอยกวนใจอยู่ในลำคอ ซึ่งหากมีอาการนี้เรื้อรัง ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาและตรวจเช็กกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกโรค

 

ทำไมเราถึงมีเสมหะ?

                เสมหะในคอ (chronic secretion in the throat) คือสารคัดหลั่งหรือของเหลวที่ร่างกายสร้างจากต่อมสร้างสารคัดหลั่งที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจบริเวณจมูก ลำคอ และหลอดลม มีส่วนช่วยในการรักษาความชุ่มชื้นและดักจับสิ่งแปลกปลอม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค เกสรดอกไม้ ฝุ่น เป็นต้น โดยปกติแล้วเสมหะจะมีลักษณะใส ไม่มีสี แต่ถ้าหากทางเดินหายใจมีความผิดปกติเสมหะจะมีสีเปลี่ยนไปจากเดิม และสิ่งที่มักจะตามมาหลังจากการมีเสมหะก็คืออาการไอ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อขจัดสิ่งที่อุดกั้นระบบทางเดินหายใจ เมื่อมีเสมหะเกิดขึ้นแล้ว การไอแบบมีเสมหะจึงเกิดตามมา

                 

โรคที่ส่งผลให้มีเสมหะ

สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับการมีเสมหะในคอแบบเรื้อรัง ต้องเช็กดูว่ากำลังป่วยเป็นโรคเหล่านี้หรือไม่

·         กลุ่มโรคทางเดินหายใจอักเสบ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ โรคคออักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหืด โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวม โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่

·         โรคกรดไหลย้อน ที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง แต่ที่จริงก็เป็นสาเหตุของการเกิดเสมหะได้เช่นกัน โดยมีกลไกคือเมื่อเกิดกรดไหลย้อนขึ้นมาถึงบริเวณคอหอยจากหลอดอาหาร จะมีการกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอ แล้วเกิดเป็นเสมหะขึ้นมานั่นเอง

·         กลุ่มอาการติดเชื้อ ระคายเคือง หรือบาดเจ็บบริเวณคอ ได้แก่ การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อซิฟิลิส หรือเชื้อวัณโรค

·         ส่วนการระคายเคือง และ/หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ จะมีจากหลากหลายสาเหตุ เช่น สารระคายเคือง มลพิษ สารเคมี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                …ดังนั้นหนึ่งในส่วนสำคัญของการรักษาเสมหะในคอเรื้อรัง จึงเป็นการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากโรคใด อาจจะเป็นโรคที่เป็นอยู่เดิมหรือโรคที่ไม่ทราบมาก่อน หากมองในแง่ดี เสมหะถือเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้เท่าทันความเจ็บป่วยที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการเริ่มต้นไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

วิธีการกำจัดเสมหะด้วยตัวเอง

            ในการกำจัดเสมหะหลายคนอาจมุ่งไปที่ใช้ยาก่อนเป็นอันดับแรก แต่ในความเป็นจริงเราสามารถใช้วิธีที่เป็นธรรมชาติจัดการกับเสมหะแสนน่ารำคาญได้ ง่ายที่สุดคือดื่มน้ำอย่างเพียงพอ พยายามจิบน้ำระหว่างวันโดยเฉพาะน้ำอุ่น ที่จะช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายสามารถขับออกได้ง่ายขึ้น อีกอย่างที่ช่วยได้คือการกลั้วคอด้วยน้ำเกลือประมาณ 30-60 วินาที วิธีนี้ทำให้บริเวณลำคอชุ่มชื้น เสมหะหลุดออกง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการรับประทานสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดเสมหะ อย่างขิง กระเทียม กานพลู ชะเอม มะนาว และน้ำผึ้ง โดยสามารถนำไปปรุงอาหารหรือทำเป็นเครื่องดื่ม แต่ข้อควรระวังคืออย่าให้รสจัดจนเกินไป

                นอกเหนือจากการกลั้วคอ การดื่ม และการรับประทาน เรายังสามารถดูแลที่อยู่อาศัยเพื่อลดการกระตุ้นการเกิดเสมหะ อาจเป็นการใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศ เพื่อป้องกันภาวะการขาดความชุ่มชื้นในลำคอ อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจตัวกระตุ้นการเกิดเสมหะ เช่น หลีกเลี่ยงละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น ควัน สารเคมี หรือควันบุหรี่

 

หากมีเสมหะเรื้อรัง ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

            เมื่อการลดเสมหะด้วยวิธีธรรมชาติไม่ได้ผลเท่าที่ต้องการ การใช้ยาเป็นอีกทางเลือกของคนที่มีเสมหะคอยกวนใจ ในกรณีซื้อยารับประทานเอง ควรเลือกซื้อกับร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่เท่านั้น และจะสามารถมั่นใจได้ยิ่งขึ้นอีกระดับเมื่อเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ ในกรณีที่มีเสมหะในลำคอและมีอาการไอร่วมด้วยติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 3 สัปดาห์

                โดยยาที่ช่วยรักษาการมีเสมหะในลำคอ เบื้องต้นคือยาละลายเสมหะ (Mucolytics) มีฤทธิ์ปรับสมดุลต่อมผลิตเสมหะ ช่วยป้องกันการเกิดเสมหะผิดปกติ(เหลวหรือข้นจนเกินไป)ให้กลับมาเป็นปกติได้ และยังช่วยกระตุ้นให้เนื้อเยื่อในลำคอขับเสมหะได้ง่ายขึ้น

                อีกชนิดหนึ่งคือยาขับเสมหะ (Expectorants) ช่วยลดความเข้มข้นของเสมหะ โดยการเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ ส่งผลให้เสมหะมีความชุ่มชื้นและอ่อนตัวลง ร่างกายจึงขับเสมหะได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการไอ ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการขับเสมหะออกจากร่างกาย

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต หากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการดังกล่าว ท่านสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นผ่านแอปพลิเคชัน Emma by AXA ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/emma-by-axa

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·         โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
https://bit.ly/34oKtoz

·         คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=750

·         เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3rtsIgF
https://bit.ly/3gsewhx

 

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ