ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
03 พฤศจิกายน 2565

Ketogenic Diet กินไขมันก็ลดน้ำหนักได้

หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน หนทางในการลดน้ำหนักที่เป็นที่นิยมอาจเป็นการควบคุมปริมาณไขมันใหม่ที่จะเข้าสู่ร่างกาย และลดไขมันที่มีอยู่เดิมด้วยการเพิ่มการเผาผลาญพลังงานให้มากขึ้น แต่ในยุคนี้หลายคนหันมาลดไขมันด้วยการกินไขมันตามแนวทาง Ketogenic Diet หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า ‘คีโต’ สำหรับใครที่มีความสนใจในการลดน้ำหนักรูปแบบนี้ ต้องไม่พลาดข้อมูลสำคัญของ Ketogenic Diet ที่เรานำมาแชร์ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก

มารู้จัก Ketogenic Diet

ที่มาของประโยคที่ใช้อธิบาย Ketogenic Diet อย่างง่ายว่า “กินไขมันเพื่อลดไขมัน” เกิดจากการที่คีโตคือรูปแบบการกินอาหารที่เน้นหนักไปที่ไขมันและโปรตีน พร้อมกับลดปริมาณแป้งและน้ำตาลลงอย่างมาก โดยไขมันควรเป็นไขมันจากธรรมชาติและไขมันดีที่ได้จากไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว อะโวคาโด เนย ชีส ปลาทะเล รวมถึงถั่วเปลือกแข็งอย่างอัลมอนด์ พิตาชิโอ้ วอลนัท เป็นต้น

เมื่อร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยลง ก็จะหันไปเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้แทนจนกลายเป็นสารคีโตนบอดี้ส์ (Ketone Bodies) โดยพลังงานจากสารชนิดนี้ถูกนำไปใช้ที่สมองและส่วนต่างๆ จนกว่าร่างกายจะได้รับคาร์โบไฮเดรตอีกครั้ง เรียกว่ากระบวนการคีโตซิส ซึ่งกระบวนการนี้มักเกิดขึ้นหลังจากจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตไปแล้ว 2-4 วัน Ketogenic Diet สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

• Standard Ketogenic Diet เป็นรูปแบบที่เน้นบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้น้อยที่สุด แล้วเพิ่มไขมันและโปรตีน โดยมักกำหนดปริมาณคาร์โบไฮเดรตไว้ที่ 5% ของอาหารทั้งหมด ส่วนโปรตีนและไขมันคิดเป็น 20% และ 75%

• High-Protein Ketogenic Diet มีรูปแบบคล้ายกับ SKD แต่เพิ่มปริมาณโปรตีนให้มากขึ้น โดยกำหนดคาร์โบไฮเดรตไว้ที่ 5% โปรตีน 35% และลดไขมันเหลือ 60%

• Cyclical Ketogenic Diet เป็นรูปแบบที่เว้นให้กินอาหารตามปกติเป็นช่วง ๆ เช่น กินตามหลัก Ketogenic Diet 4 วัน แล้วสลับไปกินอาหารแบบปกติ 3 วัน เป็นต้น

• Targeted Ketogenic Diet เป็นรูปแบบที่ให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตในช่วงเวลาที่ออกกำลังกาย โดยแนะนำให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตประมาณ 15 กรัม ก่อนออกกำลังกายเป็นเวลา 20 - 30 นาที ส่วนช่วงเวลาอื่นก็กินคีโตแบบ Standard Ketogenic Diet ตามปกติ

Ketogenic Diet ดีต่อสุขภาพอย่างไร

ข้อดีต่อสุขภาพที่สร้างให้เกิดกระแสความนิยมให้การกินคีโตอย่างมากคือ การลดน้ำหนักที่ทำได้ง่าย เนื่องจากเมื่อร่างกายได้รับไขมันและโปรตีนเป็นหลัก จะทำให้รู้สึกอิ่มนาน อยากอาหารน้อยลง และเป็นผลให้คนกินคีโตสามารถจำกัดปริมาณพลังงานได้ ซึ่งทั้งหมดมีส่วนสำคัญในการช่วยลดน้ำหนัก นอกจากนี้มีผลจากงานวิจัยว่า Ketogenic Diet ยังอาจเป็นผลดีในการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ช่วยควบคุมอาการของโรคลมชัก ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ มะเร็ง อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดยังคงต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันให้แน่ชัดต่อไปในอนาคต

Ketogenic Diet เหมาะและไม่เหมาะกับใคร

จริงอยู่ว่า Ketogenic Diet เหมาะกับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูระบบเผาผลาญ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และยังอาจช่วยผู้ป่วยโรคลมชักที่ควบคุมอาการยากได้ แต่ในทางตรงกันข้าม การกินแนวทางนี้ก็ไม่เหมาะกับกลุ่มนักกีฬาและผู้ที่ต้องการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อหรือน้ำหนัก และที่อาจส่งผลเสียจนเกิดอันตรายได้คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กินยาลดระดับน้ำตาลเพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเนื่องจากร่างกายไม่ได้รับคาร์โบไฮเดรตที่จะถูกย่อยไปเป็นน้ำตาล รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องรับอินซูลินเพราะการกินคีโตอาจทำให้มีสารคีโตนที่ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด นอกจากนี้ผู้มีภาวะไตเสื่อมก็ไม่ควรลดน้ำหนักโดยวิธีการกินคีโต เนื่องจากการที่รับประทานโปรตีนมากเกินไปอาจทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นได้ ฉะนั้นสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแล หากต้องการทดลองกินคีโตเพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลร่างกายและสุขภาพ

ผลข้างเคียงของการกิน Ketogenic Diet

แม้จะมีประโยชน์กับร่างกายในหลากหลายด้าน แต่การกินคีโตก็อาจส่งผลข้างเคียงแตกต่างกันในแต่ละบุคคลและกรณี เช่น การเกิดไข้คีโต (Keto Flu) การขาดสารอาหาร น้ำ และแร่ธาตุ กระหายน้ำบ่อย ท้องผูก ร่างกายล้า สมองล้า เป็นสิว ผิวมัน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ระดับคอเลสเตอรอลสูง มีปัญหาการนอนหลับ มวลกระดูกลดลง และที่หลายคนกลัวที่สุดคือ โยโย่เอฟเฟกต์เมื่อหยุดกินคีโต ดังนั้นการศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง หากมีความสนใจในการกินแบบ Ketogenic Diet

สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพนั้น คีโตก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดน้ำหนักที่ได้ผลเร็วโดยเฉพาะ 6 เดือนแรก แต่อย่างไรก็ตามการกินตีโตไม่ควรจะทำติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ร่างกายได้สารอาหารไม่ครบถ้วน ทางที่ดีควรทำคีโตควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงานไปในตัว ลดการเกิดโยโย่เอฟเฟกต์ได้อีกด้วย

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

แหล่งที่มาของข้อมูล

• โรงพยาบาลกรุงเทพ

https://bit.ly/3NmOB9k

• งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

https://bit.ly/3OLWmqr

• โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย

https://bit.ly/3A4YLIw

• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

https://www.chula.ac.th/highlight/67885/

• เว็บไซต์พบแพทย์

https://bit.ly/3Oikscp

• Ketogenic

https://ketogenic.com/targeted-ketogenic-diet/

บทความสุขภาพที่สำคัญ