ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
17 สิงหาคม 2565

เจ็บคอบ่อย ต่อมทอนซิลอักเสบ ต้องตัดออกหรือไม่ ดีไม่ดีอย่างไร

อาการเจ็บคอเป็นอาการที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ แม้จะสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตบ้างแต่ก็ไม่ใช่อาการป่วยรุนแรง เพียงแค่ดูแลตัวเองและพักผ่อนให้เพียงพออาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเจ็บคอเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ที่เมื่อเป็นแล้วต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

 

ต่อมทอนซิลคืออะไร อักเสบได้อย่างไร

ต่อมทอนซิล คือ ต่อมน้ำเหลือง 2 ต่อมที่อยู่ในช่องปาก ภายในต่อมทอนซิลมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิดซึ่งมีหน้าที่จับและทำลายเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร หรือ มีชื่อเล่นว่า กับดักของเชื้อโรค ต่อมทอนซิลถือเป็นปราการด่านแรกในการต่อสู้กับเชื้อโรค ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการอักเสบและติดเชื้อได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดการติดเชื้อไวรัสมากกว่าแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการอักเสบของต่อมทอนซิลอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นหากมีการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกับผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสต่อไปนี้และได้รับเชื้อ ก็อาจจะนำไปสู่การติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลได้

-           ไรโนไวรัส (Rhinoviruses)  – สาเหตุของโรคหวัดทั่วไป

-           ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) – สาเหตุของไข้หวัดใหญ่

-           ไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) – สาเหตุของโรคกล่องเสียงอักเสบและกลุ่มอาการครู้ป

-           ไวรัสเอนเทอร์โร (Enteroviruses) – สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

-           ไวรัสรูบิโอลา (Rubeola)- สาเหตุของโรคหัด

-           ไวรัสอะดีโน (Adenovirus)- สาเหตุของอาการท้องเสีย

-           ไวรัสเอ็บสไตน์บาร์ (Epstein-Barr) – สาเหตุของโรคโมโนนิวคลีโอซิส (แต่อาการต่อมทอนซิลอักเสบจากไวรัสตัวนี้เกิดขึ้นได้น้อย)

ส่วนเชื้อแบคทีเรียกที่พบว่าเป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบที่บ่อยที่สุด ได้แก่ เชื้อสเต็ปโตคอคคัสกลุ่มเอ (Group A Streptococcus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคออักเสบ

 

ต่อมทอนซิลอักเสบมีอาการอย่างไร

      โรคต่อมทอนซิลอักเสบสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กเล็กช่วงอายุ 2 ปีขึ้นไปจนไปถึงช่วงวัยรุ่นตอนกลางหรือประมาณ 15 ปี มักจะพบในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากลักษณะการใช้ชีวิตของเด็กวัยเรียนจะมีโอกาสใกล้ชิดและสัมผัสกับเชื้อโรค หรือแม้แต่กับผู้ป่วยที่มีไวรัสดังที่กล่าวไปข้างต้น่หากได้รับเชื้อติดต่อมาก็มีโอกาสที่ต่อมทอนซิลจะอักเสบมากกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งอาการของโรคมีดังต่อไปนี้

-           ต่อมทอนซิลบวมแดง

-           มีชั้นบาง ๆ หรือจุดสีขาวหรือสีเหลืองปกคลุมบนต่อมทอนซิล

-           รู้สึกเจ็บคอรุนแรง ทำให้กลืนน้ำและอาหารลำบาก กลืนแล้วเจ็บ อาการเจ็บจะอยู่นานกว่า 48 ชั่วโมง และบางครั้งอาจเจ็บร้าวไปถึงหู

-           ต่อมน้ำเหลืองในคอโตและฟกช้ำ

-           เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน

-           มีกลิ่นปาก

-           มีไข้ หนาวสั่น

-           ปวดท้อง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

-           ปวดศีรษะ

เด็กเล็กอาจจะมีอาการที่อาจไม่สามารถอธิบายได้ เช่น

-           น้ำลายไหลหรืออาเจียนหลังทานอาหาร อันเนื่องมาจากการกลืนอาหารได้ลำบาก กลืนแล้วรู้สึกเจ็บ

-           ไม่ยอมรับประทานอาหาร

-           งอแงผิดปกติ

 

ภาวะแทรกซ้อน

หากเกิดอาการทอนซิลอักเสบบ่อยครั้งและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น

-           เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

-           หายใจลำบาก

-           ติดเชื้อลุกลามไปจนถึงเนื้อเยื่อโดยรอบ

-           อาจทำให้เป็นฝีที่ทอนซิล หรือมีหนองลุกลามไปตามด้านหลังของลำคอและอวัยวะใกล้เคียง

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเด็กที่เป็นทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรียสเต็ปโตคอคคัส แต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้มีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่พบไม่มาก เช่น ไข้รูมาติกและการอักเสบของกรวยไตจากการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว

 

การวินิจฉัยและการรักษา

            ในการวินิจฉัยอาการและความรุนแรงของโรคแพทย์จะใช้ไฟฉายส่องดูที่คอและอาจที่หูและจมูกร่วมด้วย เพื่อตรวจสอบอาการผิดปกติ หลังจากนั้นจะตรวจผื่นแดงที่เป็นอาการของโรคไข้อีดำอีแดงซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกันกับโรคคออักเสบ และตรวจสอบว่าต่อมน้ำเหลืองบวมหรือไม่โดยการคลำสัมผัสที่ลำคอเบา ๆ ในบางกรณีอาจมีการใช้สำลีเช็ดที่ลำคอส่วนหลังเบา ๆ และส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาชนิดของเชื้อโรค

                โดยปกติแล้วอาการทอนซิลอักเสบจะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากพบว่าสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยการใช้ยาและการผ่าตัดในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน

 

การรักษาโดยการใช้ยา

เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าสาเหตุของอาการอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะสั่งจ่ายยาในกลุ่ม เพนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาอิริโธรมัยซิน (Erythromycin) ที่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียได้ถูกกำจัดออกหมด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้การติดเชื้อแย่ลงหรืออาจกระจายไปตามส่วนอื่นของร่างกายได้

 

การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดจะได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้รักษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการทอนซิลอักเสบบ่อยเกินไป เช่น มีอาการ 7 ครั้งใน 1 ปี เกิน 5 ครั้งในช่วงเวลา 2 ปี หรือ 3 ครั้งติดกัน 3 ปี และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยยาแล้วแต่ไม่ได้ผล แพทย์ตรวจพบว่าต่อมทอนซิลโตมาก ทำให้เกิดอาการนอนกรน และ/หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งต่อมทอนซิลหรือมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอ

                แม้ผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกจะมีอาการปวดแผลและรู้สึกกลืนอาหารลำบากเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นอาการปกติและผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด แต่การตัดเอาต่อมทอนซิลทิ้งไปนั้นกลับมีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสีย เพราะต่อมทอนซิลที่ตัดทิ้งไปนั้นเป็นต่อมที่ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ไม่สามารถกรองและฆ่าเชื้อโรคได้อีก ซ้ำยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ต่อมน้ำเหลืองที่ช่องคอต่อมอื่น ๆ จำนวนมากก็ยังสามารถทำหน้าที่จับเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้อย่างปกติ ดังนั้นการตัดออกจึงเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องร่างกายให้แข็งแรง

 

การดูแลผู้ป่วยหลังการเข้ารับการผ่าตัด

-           ควบคุมอาหารหลังผ่าตัดทันทีและในช่วง 7 วันแรก ควรรับประทานแต่อาหารอ่อนและไม่ร้อนเท่านั้น เพื่อป้องกันการเจ็บคอและเลือดออกจากแผล

-           พยายามรับประทานอาหารในปริมาณปกติและดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว

-           หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสเปรี้ยวหรือเป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำอัดลม เพราะมีฤทธิ์กัดลำคอ

-           หมั่นทำความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันและบ้วนปากสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด และอย่าใช้แปรงสีฟันแคะคราบขาวที่แผล เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นเพื่อประสานแผล

-           หากมีอาการเลือดออกที่แผลผ่าตัดสามารถกลั้วปากด้วยน้ำเย็นที่จะเข้าไปช่วยให้เลือดแข็งตัวและหายได้เอง แต่หากมีเลือดออกรุนแรงจนกลายเป็นไอเป็นเลือด หรือเลือดไหลไม่หยุดให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

 

การป้องกันทอนซิลอักเสบ

            ถึงตอนนี้เราเข้าใจกันแล้วว่าโรคทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้นการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคที่ดีที่สุดก็คือการรักษาสุขอนามัย ซึ่งทำได้ดังต่อไปนี้

-           หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมจานหรือดื่มน้ำร่วมแก้วกับผู้อื่น เพราะเป็นพฤติกรรมที่ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสน้ำลายของอีกฝ่าย

-           หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร

-           เปลี่ยนแปรงสีฟันหลังจากป่วยและหายจากอาการทอนซิลอักเสบ

-           หากมีอาการป่วยให้รักษาระยะห่างจากผู้อื่น เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจาย

-           ใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากเมื่อไอหรือจาม และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

 

ต่อมทอนซิลเป็นอวัยวะด่านแรกที่ช่วยปกป้องร่างกายจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ แต่ถ้าได้รับเชื้อมากเกินไปจากผู้ปกป้องก็จะกลายมาเป็นผู้ร้ายสร้างปัญหาให้กับอวัยวะอื่น ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการอักเสบเกิดขึ้นผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในระยะยาว

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่มีอาการเจ็บคอเรื้อรังหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และไม่แน่ใจว่าต่อมทอนซิลอักเสบหรือไม่สามารถตรวจเช็คอาการเบื้องต้นกับ Symptom Checker กับ Emma ผู้ช่วยตรวจสอบสุขภาพเบื้องต้น หรือท่านสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้กับบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·         โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://www.bangkokhospital.com/content/tonsillitis                

·         โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/501

·         คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=794
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=335

·         เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3EX0uQL

บทความสุขภาพที่สำคัญ