ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
07 กันยายน 2565

รู้ทันเรื่องกลิ่นตัว! สาเหตุและวิธีแก้ปัญหากลิ่นตัวแรง

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลิ่นตัวมีความสำคัญในการสร้างความประทับใจกับผู้คนที่เราต้องพบเจอระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศ ลูกค้าที่ต้องเดินทางไปพบ หรือแม้กระทั่งคนใกล้ตัว การไม่มีกลิ่นตัวไปกวนใจใครถือเป็นเสน่ห์กับผู้อื่นและตัวเราเองก็รู้สึกดี ดังนั้นทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องกลิ่นให้ดีอยู่เสมอ และสำหรับใครที่กำลังประสบปัญหากลิ่นตัวแรง วันนี้เราชวนมารู้ถึงต้นตอของปัญหา พร้อมนำวิธีการแก้ไขมาบอกต่อกัน

กลิ่นตัวมาจากไหน

                  เชื่อว่าหลายคนคงรู้ดีว่าเหงื่อมักจะมาพร้อมกับกลิ่นตัว ซึ่งเหงื่อของเราจะถูกขับออกมาจากต่อมเหงื่อนั่นเอง โดยร่างกายของเราจะมีต่อมเหงื่ออยู่ 2 ต่อมด้วยกัน ได้แก่ ต่อมเอกไครน์ (Eccrine Gland) ที่อยู่บริเวณผิวหนังบนร่างกาย มีหน้าที่ในการระบายความร้อน โดยการผลิตเหงื่ออกมาเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ส่วนอีกต่อมหนึ่งคือ ต่อมอะโพไครน์ (Apocrine Gland) ที่พบมากในบริเวณรักแร้ หรือบริเวณที่มีขนขึ้นมากอย่างขาหนีบ ซึ่งจะเริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น โดยกลิ่นตัวจากต่อมกลิ่นคือกรดไขมันหลายชนิดที่หลั่งออกมาตามผิวหนัง และเมื่อเจอกับแบคทีเรียบนผิวหนัง กรดไขมันเหล่านี้จะถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลงกลายเป็นกรดไขมันสายสั้นที่มีกลิ่นเฉพาะตัวและแอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุน

                  นอกจากนี้อีกตัวการหนึ่งของการก่อกลิ่นตัวคือ อาหาร เพราะโดยปกติเหงื่อจะไม่มีกลิ่น แต่เมื่อเรารับประทานเครื่องเทศและอาหารที่มีสารโคลีนสูงเข้าไปในร่างกาย เช่น กระเทียม หัวหอม เต้าเจี้ยว ผักชี รวมถึงยาบางชนิด เพราะสารนี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อขับไขมันออกมามากขึ้น  รวมถึงการรับประทานอาหารรสจัดก็เช่นกัน

                  สรุปง่าย ๆ ว่ากลิ่นตัวเกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน ซึ่งก็คือต่อมเหงื่อ ส่วนปัจจัยภายนอกจะมาจากพฤติกรรมชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งส่วนนี้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดปัญหากลิ่นตัวได้

สารพัดวิธีเพื่อบอกลากลิ่นตัว

                  - รักษาความสะอาด ทำได้ด้วยการอาบน้ำให้สะอาดหมดจด สำหรับผู้ที่มีปัญหากลิ่นตัว ให้เน้นฟอกสบู่ที่รักแร้ให้นานขึ้นเป็นพิเศษ และหากเลือกใช้สบู่ที่มีส่วนผสมในการลดหรือขจัดแบคทีเรีย ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

                  ในกรณีที่เกิดกลิ่นตัวระหว่างวัน เรายังสามารถทำความสะอาดผิวหนังบริเวณรักแร้ได้ โดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชู่ชุบน้ำหมาด ๆ เช็ด และใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายอีกครั้ง ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจในช่วงวันที่เหลือได้ นอกจากนี้เรื่องของความสะอาดต้องครอบคลุมไปถึงความสะอาดของเสื้อผ้าด้วย เพราะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการก่อกลิ่นไม่พึงประสงค์เช่นกัน

                  - ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ไม่ว่าจะเป็นยาระงับกลิ่นกาย (Deodorant) หรือสารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ทั้ง 2 ชนิดมีกลไกเดียวกันคือลดการเกิดปฏิกิริยากับแบคทีเรีย แต่ต่างกันที่ยาระงับกลิ่นกายจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นหลัก มีคุณสมบัติในการกำจัดกลิ่นตัวโดยการปรับสภาพผิวให้เป็นกรดมากขึ้นในระดับที่สามารถลดการเกิดปฏิกิริยากับแบคทีเรียได้ แต่ไม่ทำร้ายผิวหนังของเรา อย่างไรก็ตามยาระงับกลิ่นกายไม่ได้คุณสมบัติในการลดการผลิตเหงื่อ ในทางกลับกันสารระงับเหงื่อที่ส่วนมากจะมีส่วนประกอบของอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) มีความสามารถในการอุดท่อต่อมเหงื่อ ลดการหลั่งเหงื่อ ทำให้ผิวหนังแห้ง ซึ่งส่งผลให้แบคทีเรียเติบโตได้ไม่ดีและไม่เกิดกลิ่นตามมานั่นเอง ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล จากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่แนะนำให้ใช้สารระงับกลิ่นเหงื่อ เนื่องจากอาจมีการตกค้างของโลหะอลูมิเนียม ซึ่งอาจส่งผลเนื้อเยื่อสมองและหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้อีกด้วย

                  - หลีกเหลี่ยงสภาวะก่อกลิ่น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะร้อนจัด อบอ้าว หรืออับชื้น นอกจากนี้เรื่องกลิ่นของเสื้อผ้าก็มีความสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่มีกลิ่นอับชื้น

                  - พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง สำหรับผู้มีปัญหามีกลิ่นตัวแรงที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ การพบแพทย์เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเลเซอร์ขนรักแร้เพื่อลดการสะสมสารก่อกลิ่นและแบคทีเรีย การฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดการสร้างสารก่อกลิ่น รวมไปถึงการผ่าตัดเอาต่อมกลิ่นออก ซึ่งนับเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี 

แม้ว่าปัญหากลิ่นตัวจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยปะละเลยในเรื่องนี้ สำหรับใครที่จะต้องทำกิจกรรมหรือต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องมีเหงื่อบ่อยครั้ง ก็สามารถนำวิธีกำจัดกลิ่นตัวที่แนะนำเบื้องต้นมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่สำหรับใครที่มีปัญหานี้เรื้อรังแนะนำให้ไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อจะได้หาสาเหตุและรับคำแนะนำพร้อมวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต สามารถดูรายละเอียดการบริการด้านสุขภาพ (KTAXA Health) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/HealthServices

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1097

·       คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/patient_care/th/health_issue/26022016-1046-th

·       โรงพยาบาลสุขุมวิท
https://www.sukumvithospital.com/healthcontent.php?id=114

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3BQI1DU

·       เว็บไซต์ Medthai
https://bit.ly/3vlK1m2

บทความสุขภาพที่สำคัญ