ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
07 เมษายน 2566

แบบทดสอบสุขภาพจิต เช็กสภาพจิตใจ ความเครียด และซึมเศร้า

คุณภาพชีวิตที่ดีนอกจากจะต้องดูแลสุขภาพกายแล้วสุขภาพจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน เพราะจิตใจคือแรงขับเคลื่อนสำคัญในการดำรงชีวิต ถ้าใจแข็งแรงก็จะมีพลังในการใช้ชีวิตประวันได้อย่างมีคุณภาพ วันนี้เราจึงชวนทุกคนมารู้จักกับแบบทดสอบสุขภาพจิต และทำความเข้าใจว่าสุขภาพจิตจริง ๆ แล้วหมายถึงอะไร

 

สุขภาพจิตคืออะไร

สุขภาพจิต คือ ภาวะทางจิตใจของบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทุกอย่างมักเกิดขึ้นและเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นธรรมชาติของทุกอย่าง แต่บางครั้งจิตใจของมนุษย์ก็ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ทัน และไม่สามารถปรับสภาวะให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทันที ก่อให้เกิดสภาวะความเครียด ความวิตกกังวล และอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้าได้

 

ตรวจเช็คสุขภาพจิตด้วยแบบทดสอบ

                  ยิ่งเราเข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตใจตนเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่เกิดได้มากเท่านั้น และยังเป็นประตูบานแรกที่ช่วยให้รู้วิธีรับมือหรือหาทางออกได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย ในปัจจุบันมีแบบทดสอบสุขภาพจิตที่น่าสนใจอยู่หลายแบบ วันนี้เราได้ยกตัวอย่างบางส่วนมาฝากทุกคนกัน

•       แบบทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น

แบบทดสอบแบบสั้นจำนวน 15 ข้อที่ให้เลือกตอบตามระดับทั้งหมด 4 ระดับ ได้แก่ ไม่เลย เล็กน้อย มาก จนถึงมากที่สุด โดยจะนำคะแนนจากผลที่ได้มาคำนวณเพื่อหาคำตอบว่าตอนนี้สุขภาพจิตของผู้ทดสอบอยู่ในสภาวะใด ซึ่งคำตอบจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระดับโดยเทียบจากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ ผู้ที่ได้คะแนน 51-60 คะแนนแปลว่าคุณมีสุขภาพจิตที่ดีมากกว่าคนทั่วไป (Good) ถ้าได้ 44-50 หมายความว่า คุณมีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป (Fair) และถ้าได้คะแนน 43 คะแนนหรือน้อยกว่าแปลว่า คุณมีสุขภาพจิตแย่กว่าคนทั่วไป (Poor)
คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ

 

•       แบบประเมินเพื่อคัดกรองความจำเป็นในการรับคำปรึกษา
เหมาะสำหรับคนที่อาจไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร หรือมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ไม่มั่นใจว่าตนเองนั้นมีสุขภาพจิตเป็นอย่างไร สามารถลองทำแบบทดสอบนี้ได้ โดยแบบทดสองจะมีทั้งหมด 25 ข้อด้วยกัน
คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ

•       แบบประเมินแนวโน้มภาวะซึมเศร้า
แบบทดสอบฉบับสั้นจำนวน 20 ข้อ ที่ประเมินอาการและความรู้สึกของเราในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเข้าข่ายจะมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ

•       แบบประเมินแนวโน้มความเครียดและภาวะหมดไฟ
แน่นอนว่าการทำงานมักมาพร้อมกับความเครียด และถ้าหากเราเครียดติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้เป็นภาวะหมดไฟได้ โดยแบบทดสอบนี้จะเป็นการประเมินความเครียดในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาว่าคุณมีความเครียดและมีภาวะหมดไฟหรือไม่
คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ

•       แบบสอบถาม General Health Questionnaire ฉบับภาษาไทย

พัฒนามาจาก GHQ ของ Goldberg (1972) ซึ่งเป็นแบบคัดกรองสุขภาพจิตที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งได้ถูกแปลแล้วทั้งสิ้น 36 ภาษา แบบทดสอบชนิดนี้มีทั้งหมด 4 ชุดแบ่งตามจำนวนคำถาม ตั้งแต่ 12 คำถาม 28 คำถาม 30 คำถาม และ 60 คำถาม ซึ่งคำตอบจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้ทดสอบมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของโรคทางจิตเวชได้

คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ

 

•       แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9

แบบทดสอบคำถามสั้น ๆ จำนวน 9 ข้อที่ใช้เช็คพฤติกรรมและสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยแบ่งเกณฑ์การให้คะแนนเป็น 4 ระดับ คือ ไม่เลย = 0 มีบางวันหรือไม่บ่อย = 1 มีค่อนข้างบ่อย = 2 และมีเกือบทุกวัน = 3 ผลทดสอบจะบอกได้ว่าผู้ทดสอบกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอยู่หรือไม่
คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ

 

•       แบบประเมินความเครียด (ST5)

แบบทดสอบด้วยคำถามจำนวน 5 ข้อเกี่ยวกับพฤติกรรมในระยะ 2-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะมีเกณฑ์การวัดทั้งหมด 4 ระดับ คือ แทบไม่มี เป็นครั้ง บ่อยครั้ง และเป็นประจำ คำตอบจะบอกว่าผู้ทดสอบกำลังมีความเครียดอยู่ในระดับใด
คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ

 

สุขภาพจิตที่ดี สร้างได้ แค่ปรับพฤติกรรม

สุขภาพจิตก็เหมือนกับสุขภาพกายที่ถ้ารู้วิธีการดูแลเอาใจใส่ก็จะแข็งแรงและช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สุขภาพจิตที่ดีก็คือ สภาวะที่จิตใจเป็นสุข มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์และสามารถปรับตัวเพื่อให้ก้าวผ่านปัญหาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างมีสติ รวมไปถึงช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวด้วย

 

เคล็ดลับการมีสุขภาพจิตที่ดี

•       ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

•       รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ

•       เลิกพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การลดหรืองดการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สารเสพติด

•       หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อดึงความสนใจออกจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกเครียด

 

หากเปรียบการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นรถสปอร์ต การมีสุขภาพจิตที่ดีก็คือเชื้อเพลิงชั้นยอดที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การเดินทางเป็นไปอย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ถึงจุดหมายหลายทางโดยสวัสดิภาพจำเป็นที่จะต้องหมั่นตรวจเช็คและดูแลรักษาทั้งสองสิ่งควบคู่กันไป สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3Vq4b90
https://www.rama.mahidol.ac.th/th/depression_risk

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3VlSdgv

·       กรมสุขภาพจิต
https://dmh.go.th/test/thaihapnew/thi15/thi15.asp
https://dmh.go.th/test/ghq/

https://dmh.go.th/covid19/test/qtest5/

·       KTAXA Mind Health
https://istrong.center/ktaxa-mind-health/

บทความสุขภาพที่สำคัญ