แมวถือเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมที่ทำให้ทาสแมวทั้งหลายต้องหลงรัก ด้วยความน่ารักและความซุกซนของเจ้าแมว แต่บางครั้งการเล่นกับแมวแรงเกินไปอาจทำให้แมวตกใจกลัวและข่วนจนเลือดไหล หรือบางครั้งเมื่อแมวอารมณ์ไม่ดี แล้วเราเข้าไปเล่นด้วยก็อาจถูกแมวกัดได้
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าเพียงแค่ล้างแผล เช็ดแอลกอฮอล์ ทาเบตาดีน และปิดพลาสเตอร์ก็เพียงพอ แม้ว่าแมวของเราจะได้รับการฉีดวัคซีนและตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้ว แต่เจ้าของควรระวังภัยเงียบจากโรคติดต่อบางชนิดที่อาจทำให้เราติดเชื้อและป่วยได้
วันนี้เรามีบทความสำหรับคนรักแมวมาฝาก โดยเฉพาะหากใครที่โดนแมวกัด และต้องระวังโรคติดต่อจากแมว วิธีทำความสะอาดแผลและดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อถูกแมวกัด รวมถึงคำถามว่าเมื่อถูกแมวกัดต้องฉีดยาหรือไม่ และวิธีการดูแลแมวอย่างไรให้เราห่างไกลจากโรคติดต่อ
โรคติดต่อจากแมว
เรามาทำความรู้จักกับโรคที่สามารถติดต่อจากแมวสู่คนได้ว่ามีอะไรบ้าง
1. โรคเซลล์ผิวหนังอักเสบจากแผล แมวกัด (Cat bite cellulitis)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากของแมว โดยเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดคือ Pasteurella multocida แผลที่เกิดการอักเสบและติดเชื้อ จะมีลักษณะบวม แดง และปวดบริเวณแผล ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังโดนกัด และอาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว
ในกรณีที่ติดเชื้อ ‘แบคทีเรียกินเนื้อคน’ หรือ Necrotizing Fasciitis จะส่งผลให้บริเวณแผลมีเส้นเลือดอุดตัน ปวดแผลอย่างรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายในบริเวณแผลที่โดนกัดจนกลายเป็นสีดำลุกลามอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในที่สุด โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการดูแลแผลไม่สะอาด ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
2. โรคแมวข่วน (Cat scratch disease)
เกิดจากการติดเชื้อ Bartonella henselae จากบาดแผลแมวข่วน ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้ในน้ำลายของแมว หรืออาจติดโรคได้จากการถูกหมัดที่มีเชื้อกัด โดยอาการที่มีจะเป็น ผื่นแดง ตุ่มพอง และแผลเป็นหลุม รวมถึงมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใกล้จุดที่โดนกัด
สำหรับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง จะสามารถหายเองได้ภายใน 4-8 สัปดาห์ แต่สำหรับคนที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อลามไปที่ตา และระบบประสาทอีกด้วย ถ้าสงสัยว่ามีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนขึ้นมา ควรรีบพบแพทย์ทันที
3. โรคบาดทะยัก (Tetanus)
เกิดจากแผลที่โดน แมวกัด หรือข่วน ติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani โดยอาจเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ 2-3 วันแรก หรืออาจผ่านไปแล้วหลายสัปดาห์ โดยผู้ป่วยมักมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็น กรามติด กล้ามเนื้อคอแข็ง ทำให้มีปัญหาในการการกลืน รวมถึงมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อท้องแข็ง เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตสูง
4. โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘โรคอุจจาระแมวขึ้นสมอง’ หรือ ‘โรคไข้อุจจาระแมว’ เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii จากอุจจาระของแมว โดยแมวได้รับเชื้อจากการรับประทานหนูหรือนกที่เป็นพาหะของเชื้อโรค สำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้อ่อน ๆ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย เป็นต้น แต่ในคนที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการอาจรุนแรงตามอวัยวะที่เชื้อรุกรานเข้าไปอาศัยอยู่ เช่น โรคไข้สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
ในกรณีที่หญิงมีครรภ์ได้รับเชื้อ เชื้อสามารถติดต่อสู่ทารกในครรภ์ได้ โดยทารกที่ได้รับเชื้อ จะมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ขนาดตัวเล็ก ศีรษะโต บกพร่องทางสติปัญญา และอาจรุนแรงถึงขั้นแท้งได้
5. โรคผิวหนังจากเชื้อราแมว (Dermatophytosis)
เชื้อราบนผิวหนังของแมว สามารถติดต่อสู่คนได้ จากการสัมผัสหรือคลุกคลี โดยเชื้อที่พบบ่อยจะเป็นเชื้อรา Microsporum canis ซึ่งมักพบในลูกแมว และแมวขนยาว อาการของแมวที่ติดเชื้อราจะสังเกตได้จาก ผิวหนังแห้ง แดง ตกสะเก็ด ลอกเป็นขุยสีขาวหรือเทา ส่วนอาการในคน จะมีผื่นแดงเป็นวงตามร่างกาย และมีขุยขึ้นบริเวณรอบ ๆ ผื่น รวมถึงคันบริเวณผื่น นอกจากนี้อาจเกิดผื่นแดงเพิ่มขึ้นเมื่อสัมผัสบริเวณผื่น แล้วไปสัมผัสจุดอื่น ๆ บนร่างกาย และในกรณีที่ติดเชื้อบนหนังศีรษะ อาจมีภาวะผมร่วงเป็นหย่อมบริเวณที่ติดเชื้อ
6. พยาธิ
· พยาธิชอนไชผิวหนัง (cutaneous larva migrans)
โรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิปากขอ Ancylostoma braziliense ระยะตัวอ่อน ที่อยู่ในทราย หากคนไม่ได้ใส่รองเท้า แล้วเดินเหยียบทรายที่มีพยาธิแฝงอยู่ในอุจจาระแมว ตัวอ่อนพยาธิจะชอนไชผ่านผิวหนังเข้าไปในร่างกาย ทำให้เป็นผื่นอักเสบสีแดงคดเคี้ยวไปตามเส้นทางที่พยาธิเคลื่อนที่ ก่อให้เกิดอาการคันเป็นอย่างมาก
· พยาธิเคลื่อนที่ผ่านอวัยวะภายใน (visceral larva migrans)
เป็นโรคที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนพยาธิตัวกลม Toxocara cati พบได้ในอุจจาระแมว ติดต่อสู่คนโดยการรับประทานสิ่งปนเปื้อนอุจจาระแมวที่มีพยาธิชนิดนี้แผงอยู่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่อาจเผลอเอามือที่เปื้อนดินทรายเข้าปาก โดยอาการของโรคจะแสดงอย่างไม่จำเพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนพยาธิชอนไชไป
โดน แมวกัดต้องฉีดยาไหม ?
คำถามยอดฮิต เมื่อโดน แมวกัดต้องฉีดยาไหม ? โดนแมวกัดต้อง ฉีดยา ภายใน กี่วัน ?
คำตอบคือ เมื่อโดน แมวกัด หรือข่วน ไม่ควรชะล่าใจ โดยเฉพาะเมื่อโดนแมวข้างนอกบ้านกัด ให้ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น แล้วรีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและให้การรักษา รวมถึงคำแนะนำที่เหมาะสมว่า ควรฉีดยา หรือกินยาชนิดไหนบ้าง และควรปฏิบัติตัวอย่างไรหลังการรักษา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แพทย์จะทำการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักให้ ส่วนยาอื่น ๆ แล้วแต่แพทย์จะวินิจฉัย
ขั้นตอนวิธีการทำความสะอาดแผลและดูแลตัวเองเบื้องต้น
เมื่อเราทราบแล้วว่าหากโดน แมวกัด หรือข่วน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที แต่จะก่อนไปโรงพยาบาล เรามาดูขั้นตอนวิธีการทำความสะอาดแผล และดูแลตัวเองเบื้องต้นกันก่อน ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ?
1. ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที ก่อนทำการสัมผัสแผล
2. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดไหลแรง เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที เพื่อชะล้างคราบสกปรก น้ำลายแมว และเชื้อโรคออกจากแผล
3. ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด เช็ดแผลให้แห้งเบา ๆ ห้ามใช้สำลีหรือผ้าขนหนู เพราะสำลีหรือใยผ้าอาจติดแผลได้
4. ทายาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน หรือแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดแผล
5. ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าปิดแผลสะอาด (ในกรณีแผลลึกหรือมีเลือดไหลมาก ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดกดบริเวณแผลเพื่อห้ามเลือด)
6. ห้ามดูดแผล และทาครีมหรือยาอื่น ๆ บนแผล โดยปราศจากคำแนะนำของแพทย์
ควรดูแลตัวเองและแมวอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคติดต่อ?
- ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ
- ล้างมือทุกครั้งหลังจากที่สัมผัสแมว หรือทำความสะอาดทรายที่ใช้เป็นที่ขับถ่ายของแมว
- ใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะเมื่อต้องเหยียบบนดินหรือทราย
- เลี้ยงแมวในระบบปิด โดยการเลี้ยงไว้ภายในบ้าน
- นำแมวไปฉีดวัคซีน ตรวจสุขภาพ และถ่ายพยาธิตามกำหนดทุกปี
- เลี้ยงแมวด้วยอาหารเม็ดหรืออาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว
- เล่นกับแมวด้วยความระมัดระวัง ไม่ทำให้แมวรู้สึกกลัวหรือตกใจ
- อาบน้ำให้แมวอย่างสม่ำเสมอ และเป่าขนให้แห้งสนิททุกครั้ง
- ทำความสะอาดชามใส่อาหารและเปลี่ยนน้ำให้แมวทุกวัน
- ทำความสะอาดกระบะทรายแมวบ่อย ๆ และสวมถุงมือทุกครั้งขณะทำความสะอาด รวมถึงหมั่นทำความสะอาดที่อยู่ของแมวและบริเวณบ้าน
- คอยสอดส่องว่ามีหมัดเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านหรือไม่ หากพบให้รีบกำจัด เพราะหมัดถือเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ
จะเห็นได้ว่าการถูกแมวกัดหรือข่วนนั้นมีอันตรายมากกว่าที่เราคิด แมวที่น่ารักของเราอาจนำพาโรคร้ายมาสู่เราโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น ผู้เลี้ยงแมวทุกคนควรดูแลตนเองและแมวให้ปลอดภัยห่างไกลจากโรคต่าง ๆ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำในบทความนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขและสนุกกับการเลี้ยงแมวอย่างปลอดภัยและไร้กังวล สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
หากสนใจผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพโดยกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/products/health-insurance-and-hospital-income/ihealthy-ultra
แหล่งที่มาของข้อมูล
· คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
· คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
· ไทยรัฐออนไลน์
