โรคเบาหวานเป็นโรคยอดฮิตอันดับต้น ๆ ที่คนไทยเป็นและยังเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงทำได้เพียงประคองอาการให้อยู่ในระดับที่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด ทั้งยังเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากมาย วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักโรคแทรกซ้อนเรื้อรังทั้ง 6 โรคที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง
โรคเบาหวานและประเภทภาวะแทรกซ้อนของโรค
โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลสูงเกินกว่าปกติ โดยเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างจากตับอ่อนส่วนเบตาเซลล์ผิดปกติ อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการใด ๆ หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมาก ผู้ป่วยที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มของผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่คนรุ่นใหม่ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและการเลือกรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นเวลานานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปมีโอกาสมากกว่าที่จะเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามที่กำหนด ซึ่งความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนนั้นก็แตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล โดยภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน แบ่งย่อยออกได้เป็น 2 กลุ่มอาการ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วต่ำกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร มักมีอาการแสดงเมื่อมีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาการจะหายไปเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- อาการ: มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกหิว มึนงง สับสน อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ชัก หมดสติ
- หลักการแก้ไข: ยึดหลัก 15: 15: 15 คือให้ผู้ป่วยรับประทานคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม 1 แก้ว ลูกอม 3 เม็ด เป็นต้น หลังจากนั้น 15 นาทีให้ตรวจดูค่าน้ำตาลที่ปลายนิ้ว หากค่าน้ำตาลมากกว่า 70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ให้รับประทานอาหารมื้อหลักทันทีเมื่อถึงมื้ออาหาร แต่หากยังต่ำกว่าระดับที่ระบุ ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตซ้ำอีก 15 กรัม และเว้นอีก 15 นาทีก่อนตรวจระดับน้ำตาลอีกครั้ง แต่หากผู้ป่วยมีอาการมึนงง ไม่รู้สึกตัวหรือชัก ห้ามให้อาหารทางปากเด็ดขาดเพราะอาจจะสำลักลงหลอดลมได้ ต้องรีบน้ำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน ซึ่งมี 2 ภาวะ คือ
1. ภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (Diabetic Ketoacidosis, DKA) คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทีมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 250 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ร่วมกับภาวะกรดเมตาบอลิกจากกรดคีโตนคั่งในร่างกาย
2. ภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง (Hyperosmolar Hyperglycemic state, HHS) คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทีมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 600 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และออสโมลาลิตีในเลือดมากกว่า 320 มิลลิออสโมล / กก. ร่วมกับระดับความรู้สึกตัวลดลง
- อาการ: คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่สบายตัว หอบเหนื่อย ปัสสาวะมาก ซึม ชัก หมดสติ
- หลักการแก้ไข: หากผู้ป่วยมีอาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน “ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที”
ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง
ภาวะนี้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งมักเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรืออาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยวะและทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง พร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก ได้แก่
- ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา
- ภาวะแทรกซ้อนที่ไต
- ภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท
ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ ได้แก่
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหลอดเลือดส่วนหลายอุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัยส่งให้เกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
6 ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรังยอดฮิตที่ต้องเฝ้าระวัง
จากที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังถือว่าเป็นปัญหาใหญ่และร้ายแรงสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องคอยระวัง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก และภาวะเรื้อรังที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ ในหัวข้อนี้เราจะมาเจาะลึกกับรายละเอียดของแต่ละภาวะมากขึ้น
1. ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา
หรือที่คุ้นชินกันดีในชื่อ “เบาหวานขึ้นตา” เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ทำให้หลอดเลือดในจอประสาทตาเริ่มอักเสบ โป่งพอง มีเลือด และมีน้ำเหลืองซึมออกมาทั่วจอประสาทตา หากรั่วซึมถึงจุดศูนย์กลางของการรับภาพ อาจทำให้มีอาการตาพร่ามัว หากหลอดเลือดและพังผืดเกิดใหม่ยังมีผนังไม่แข็งแรง ฉีกขาดง่าย จะเป็นตัวที่ยึดดึงจอประสาทตาให้หลุดลอกออกมาและตาบอดสนิท
อาการ
- สายตามัวลง เกิดจากการหักเหแสงของเลนส์ผิดปกติในขณะที่น้ำตาลในเลือดสูง หรือเกิดจากต้อกระจก หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตา ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้
- เห็นเงาดำบังเวลามองภาพ เกิดจากมีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา
- มองเห็นภาพซ้อน เกิดจากกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมโดยเส้นประสาทสมองทำงานผิดปกติ
2. ภาวะแทรกซ้อนที่ไต
เบาหวานเป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ภาวะแทรกซ้อนที่ไตเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นอาการที่มีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับความดันโลหิต
อาการ
- ระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่หากไปตรวจปัสสาวะจะพบโปรตีนอัลบูมินหรือไข่ขาวรั่วออกมาทางปัสสาวะในปริมาณเล็กน้อย คือ ตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะประมาณ 30-300 มิลลิกรัมต่อวัน
- ระยะต่อมาเมื่อปริมาณโปรตีนรั่วออกมามากขึ้น อาจสังเกตพบปัสสาวะเป็นฟองและมีอาการบวมได้ ในระยะนี้ จะตรวจพบความดันโลหิตสูงร่วมด้วย (ปริมาณโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะระยะนี้จะมีปริมาณมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน)
- หากยังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะส่งผลให้การทำงานของไตลดลง และเกิดภาวะไตวายเรื้อรังในที่สุด จนต้องรักษาด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไต
3. ภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท
ภาวะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการชาที่ปลายเท้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันร่วมด้วย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจต้องถูกตัดนิ้วหรือตัดขา ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
อาการ
- ผู้ป่วยอาจมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือปวดเหมือนถูกแทง ส่วนใหญ่อาการมักจะเกิดตอนกลางคืน
- ระยะต่อมาอาการปวดจะลดลง แต่จะรู้สึกชาและรับรู้การสัมผัสลดลง นอกจากนี้บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขนาดเล็กของแขนและขาได้
4. โรคหลอดเลือดหัวใจ
ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน นับว่าเป็นโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมาก เพราะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป 1.5 เท่าละมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าเกือบ 2 เท่า ซึ่งผู้ป่วยจะมีภาวะความดันโลดหิตและไขมันในเลือดสูง แต่อาการนี้ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ได้เอง ดังนั้นจะต้องได้รับการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ
5. โรคหลอดเลือดสมอง
เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณสมองตีบตัน ทำให้ผู้ป่วยพิการหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โอกาสเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันจะสูงมากขึ้นในผู้เป็นเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ทำให้อวัยวะที่สมองส่วนนั้นควบคุมอยู่อ่อนแรงลงไป เกิดอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต อายุถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงนี้ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปีมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงถึง 3 เท่า
6. โรคหลอดเลือดส่วนหลายอุดตัน
โรคนี้ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้รู้สึกรำคาญและทุกข์ทรมาน เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทถูกทำลาย ไม่สามารถส่งออกซิเจนมาตามกระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงเส้นประสาทได้ รวมถึงการมีน้ำตาลสะสมรวมตัวกันอยู่บริเวณเส้นประสาทเองด้วย จึงทำให้การทำงานของเส้นประสาทเสื่อมลง ความรู้สึกในการรับรู้ต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะบริเวณปลายมือ ปลายเท้า จะเกิดอาการชา เมื่อกระทบถูกความร้อนหรือเจ็บปวดจะไม่ค่อยรู้สึก จึงเป็นอันตรายกับผู้เป็นเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้ง่ายโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบและเล็กลง รวมถึงทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง
แค่ตรวจพบเจอโรคเบาหวานผู้ป่วยก็รู้สึกทรมานมากแล้ว แต่หากละเลยการดูแลสุขภาพและใช้พฤติกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสภาพร่างกายยิ่งเป็นการเปิดประตูเชื้อเชิญให้โรคแทรกซ้อนทั้ง 6 เข้ามาเยี่ยมเยือนได้ หากคุณหรือคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวานก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจกับการเลือกบริโภคอาหารให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และลดเลิกพฤติกรรมที่จะทำให้อาการของโรคแย่ลง เพื่อที่คุณและคนที่คนรักจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขไปนาน ๆ
สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/diabetes-mellitus
· โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
https://bit.ly/3ymVZgr
· คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3OGAsVp
· โรงพยาบาลพญาไท
https://bit.ly/3Oqlza4
· โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3QUnlC6
https://bit.ly/3HSxHxW
· โรงพยาบาลพิษณุเวช
https://bit.ly/3y0kazM
