ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
02 กุมภาพันธ์ 2566

จริงหรือ? ที่หนึ่งคนจะมีมากกว่าหนึ่งบุคลิก มารู้จักกับโรคหลายบุคลิก

เดี๋ยวก็ร่าเริงสุดขีด แต่อีกเดี๋ยวก็ฉุนเฉียวสุดโต่ง อาการแบบนี้อาจไม่ใช่โรคไบโพลาร์อย่างที่เข้าใจ แต่เป็นอาการของโรคหลายบุคลิกที่หลายคนอาจจะเคยเห็นจากในภาพยนตร์ โรคนี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในจอ แต่อาจจะอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด จริง ๆ แล้วโรคนี้คืออะไร วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้นกัน

 

โรคหลายบุคลิกคืออะไร

              โรคหลายบุคลิก หรือ โรคหลายอัตลักษณ์​ (Dissociative Identity Disorder: DID) จัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีตัวตนมากกว่า 1 บุคลิกอยู่ในตัวเอง ซึ่งบุคลิกทั้งหมดจะแยกขาดออกจากกันและสลับกันเข้าควบคุมอารมณ์​ จิตใจ และความรู้สึก ซึ่งแต่ละบุคลิกจะบันทึกและจดจำเรื่องราวที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจำตัวเองได้เมื่อมีอีกอัตลักษณ์หนึ่งเข้าควบคุม

 

โรคหลายบุคลิกเกิดขึ้นได้อย่างไร

              โรคนี้มักจะเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย หรือ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้สมองของผู้ป่วยสร้างอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการปกป้องตัวเอง โดยการตัดขาดจากตัวตนและความทรงจำเดิม

 

สัญญาณเตือนของโรคหลายบุคลิก

                  ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลายบุคลิกจะมี “อัตลักษณ์หลัก” ซึ่งเป็นตัวตนดั้งเดิม และ “อัตลักษณ์รอง” ซึ่งอาจจะมีแค่สองหรือในบางกรณีอาจจะมีมากกว่า 100 อัตลักษณ์ก็ได้ ซึ่งแต่ละตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นมาอาจจะมีเพศ อายุ หรืออุปนิสัยที่แตกต่างกันอย่างไรก็ได้ และจะเข้าสลับเปลี่ยนกันเพื่อทำหน้าที่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยสามารถสังเกตสัญญาณเตือนได้ดังนี้

·       รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้สังเกตการณ์การกระทำของตนเอง

·       ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการได้ยินเสียงผู้อื่น อย่างเช่น เสียงในใจที่คอยควบคุมตนเองอยู่ หรือ เสียงเด็ก

·       เมื่อมีอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจควบคุมการกระทำของตนเอง

·       เมื่อผู้ป่วยต้องอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดหรือได้รับความกดดันทางจิตใจ ร่างกายจะแสดงอัตลักษณ์รองออกมาแทน

·       เมื่ออัตลักษณ์เปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยบางคนอาจสูญเสียความทรงจำไปชั่วคราว

 

การวินิจฉัยโรคหลายบุคลิก

              การวินิจฉัยโรคหลายบุคลิกจำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและหาข้อสรุปเพื่อคัดกรองและตัดความเป็นไปได้ของการเป็นโรคอื่น โดยทั่วไปจะวินิจฉัยจากการสอบถามข้อมูลสุขภาพ การตรวจหาความผิดปกติทางร่างกาย หากไม่พบความผิดปกติแพทย์ก็อาจจะใช้วิธีการทางจิตเวชในการถามคำถามเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรม โดยจะใช้เกณฑ์ดังนี้ในการสังเกตอาการ

·       ผู้ป่วยมีอาการแสดงชัดเจนว่ามีอัตลักษณ์ตั้งแต่ 2 อัตลักษณ์ขึ้นไป

·       ผู้ป่วยรู้สึกถึงช่องว่างของความทรงจำที่ขาดช่วงไปบ่อยครั้ง

·       เช็กว่าอาการของผู้ป่วยไม่เกี่ยวข้องกับหลักวัฒนธรรมและศาสนา

·       เช็กว่าอาการของผู้ป่วยไม่ใช่ผลลัพธ์จากการใช้สารเสพติด เช่น ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมาได้

·       ผู้ป่วยรู้สึกเครียด จนเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ ด้านหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน

 

 การรักษาโรคหลายบุคลิก

·       กระบวนการจิตบำบัด

จิตแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับอาการ และช่วยให้ผู้ป่วยสื่อสารถึงความทรงจำอันเลวร้ายออกมาเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุ และหาวิธีการรับมือได้อย่างเหมาะสม

·       การบำบัดความคิดและพฤติกรรม

เน้นทำความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายในการจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ฝึกฝนให้ผู้ป่วยจัดการปัญหาของตนเองได้ดีขึ้น

·       การบำบัดในรูปแบบอื่น ๆ

เช่น พฤติกรรมบำบัด สมาธิบำบัด สะกดจิตบำบัด ดนตรีบำบัด เป็นต้น

·       การใช้ยา
แม้จะไม่มียาสำหรับรักษาโรคหลายบุคลิกโดยตรง แต่หากผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ก็สามารถใช้ยาในการรักษาอาการนั้น ๆ ได้ เช่น ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ยารักษาโรควิตกกังวล หรือยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic Drug) ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่แพทย์กำหนด

 

สมองของมนุษย์เป็นอวัยวะที่ทรงพลังและรู้วิธีในการปกป้องตัวเราจากอันตรายทั้งหมด เพื่อให้เรายังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขและปลอดภัยจากความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญ ถึงแม้ว่านั่นจะหมายถึงการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมาก็ตาม การเข้าใจโรคนี้จะช่วยให้เราเปิดใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้มากขึ้น

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       Cleveland Clinic
https://cle.clinic/3CC0CW0

·       งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3CC7qTw

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3EkojU2

·       WebMD
https://wb.md/3VyaU0V

บทความสุขภาพที่สำคัญ