ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
16 กรกฎาคม 2566

5 กลุ่ม โรค ระบาด ที่มากับหน้าฝน

 หน้าฝนมาพร้อมความความเย็นชุ่มฉ่ำ ไม่ทำให้อากาศร้อนเกินไป แต่ฝนก็มาพร้อมกับความชื้นด้วย ซึ่งสภาพอากาศแบบนี้นี่แหละที่นำพาโรคต่าง ๆ มาให้เรา หากเราไม่ทันระวังตัวและรักษาสุขภาพให้ดี วันนี้เราจะมาดูกันว่า 5 กลุ่มโรคระบาดที่มากับหน้าฝนมีอะไรบ้าง พร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย

 

กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดเชื้อหรือความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ โดยระบบทางเดินหายใจจะเริ่มตั้งแต่รูจมูก โพรงจมูก คอหอย หลอดลม ปอด ไปจนถึงแขนงขั้วปอด โดยกลุ่มโรคประเภทนี้จะติดต่อผ่านน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ รวมถึงการหายใจที่มีเชื้ออยู่ในละอองอากาศอีกด้วย ซึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและมักมาพร้อมกับหน้าฝนมี 5 โรคด้วยกัน ได้แก่

1.        โรคไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common Cold)
เป็นโรคที่หลายคนคุ้นเคยกันดี โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์ ทำให้เราสามารถเป็นโรคไข้หวัดได้หลายครั้งนั่นเอง มักพบบ่อยในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลและมีลักษณะใส ไอ จาม เจ็บคอ เสียงแหบ อาจมีไข้ต่ำและปวดศีรษะเล็กน้อย

2.        โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
โรคนี้เป็นโรคที่อาจเกิดการระบาดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หากได้รับเชื้อผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะและอาจปวดไปจนถึงกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก อาจมีอาการคัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหลลักษณะใส หลอดลมอักเสบ รวมถึงอาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน

3.        โรคคออักเสบ (Acute Pharyngitis)
เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในลำคอ โดยปกติแล้วถ้าหากอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะสามารถหายเองได้ในเวลาไม่กี่วัน แต่หากติดเชื้อแบคทีเรียก็จะทำให้มีอาการนานขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บคอและเจ็บเวลากลืนน้ำหรืออาหาร มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ อาจพบอาการต่อมน้ำเหลืองโต และถ้าหากเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก คอแดงมาก มีจุดหนองที่ภายในลำคอ

4.        โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis)
มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อที่หลอดลม หลอดลมในร่างกายมีขนาดใหญ่และจะแตกแขนงเป็นขนาดเล็กย่อย ๆ จนกว่าจะถึงถุงลม ปอด ซึ่งการที่ติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียนั้นจะทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้อากาศไหลผ่านได้ไม่ดี ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการหายใจลำบาก ในบางรายเมื่อหายใจอาจมีเสียงดังวี้ดได้ ไอแห้ง ไอมีเสมหะ ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ มีอาการคล้ายโรคหวัด

5.        โรคปอดอักเสบและปอดบวม (Pneumonia)
เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดการติดเชื้อบริเวณปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เกิดการอักเสบ บวม มีน้ำหรือหนองอยู่ภายในถุงลมปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศทำได้ไม่ดี พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย และหายใจลำบาก รวมถึงเมื่อหายใจจะรู้สึกเจ็บหน้าอกอีกด้วย

 

กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร

เกิดจากการที่อวัยวะในระบบย่อยอาหารเกิดการติดเชื้อ โดยระบบย่อยอาหารจะเริ่มต้นตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ซึ่งในช่วงหน้าฝนจะมี 4 โรคฮิตที่คนมักเป็นบ่อย ได้แก่

1.        โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)
เกิดจากการติดเชื้อหรือได้รับสารพิษที่เชื้อโรคผลิตขึ้นจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต หรือเชื้อหลายประเภทปะปนกัน ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวและบ่อยกว่าปกติเกิน 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายมีมูกปนเลือด 1 ครั้งต่อวัน อาจมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดเบ่งถ่าย รวมถึงร่างกายอ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะน้อยลง เนื่องจากร่างกายขาดน้ำจากการถ่ายเหลวปริมาณมาก

2.        โรคบิด (Dysentery)
โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อโปรโตซัว (เชื้ออะมีบา) หรือ เชื้อแบคทีเรียสกุล “ชิเกลล่า” (Shigella spp.) ในลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียรุนแรง โดยจะอุจจาระเป็นน้ำ มีมูกหรือมูกเลือดปนออกมากับอุจจาระ และถ่ายติดต่อกันมากกว่า 3 ครั้ง มีอาการปวดเกร็ง ปวดบีบที่ท้องเป็นพัก ๆ ปวดหน่วงที่ทวารหนัก รวมถึงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้สูงเกิน 38 องศา

3.        โรคอาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
เป็นโรคยอดฮิตอีกโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษที่สร้างจากเชื้อโรคนั้น ๆ หรือจากสารพิษหรือสารเคมีที่ไม่ใช่เชื้อโรค ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดท้องในลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ อาเจียน ซึ่งมักจะมีเศษอาหารที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อออกมาด้วย รวมถึงอุจจาระเป็นน้ำบ่อย อาจมีไข้และรู้สึกอ่อนเพลียร่วมด้วย

4.        โรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella Typhi) โรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูงเฉียบพลัน และไข้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องผูก ต่อมาอาจถ่ายอุจจาระเหลวมีมูกเลือดปน

อย่างไรก็ตามเราสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อกลุ่มโรคทางเดินอาหารโดยการเลือกซื้ออาหารที่สะอาด กินอาหารที่ปรุงสุก และถ้าหากกินอาหารไม่หมดก็ควรปิดให้มิดชิดหรือเก็บอาหารไว้ในตู้เย็นแทนก็ได้เช่นกัน

 

กลุ่มโรคติดต่อจากยุง

เมื่อฝนตกก็มักจะมีแหล่งน้ำสะสมตามที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของยุง โดยยุงสามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่คนได้เช่นกัน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายเราได้ผ่านการโดนยุงกัดนั่นเอง วันนี้เราจะพาไปรู้จักโรคที่มียุงเป็นพาหะ 3 โรคด้วยกัน ซึ่งได้แก่

1.        โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยอาการของโรคนี้สามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะด้วยกัน เริ่มต้นจากระยะไข้ที่ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา แม้จะรับประทานยาลดไข้แล้วแต่ไข้ไม่ลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามตัว เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นก็จะเข้าสู่ระยะวิกฤต ที่ผู้ป่วยจะมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกง่าย เลือดกำเดาไหล หรืออาเจียนเป็นเลือด นอกจากนี้ยังมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลีย แต่อาการจะมากกว่าเดิม รวมถึงอาจมีภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลวอีกด้วย และเมื่ออาการเริ่มดีขึ้นก็จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น มีความดันโลหิตสูงขึ้น และในบางรายอาจมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามตัว

2.        โรคมาลาเรีย
โรคนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียมที่มีอยู่ 5 ชนิด และเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในเลือดพบได้มากตามบริเวณที่เป็นป่าเขาและมีแหล่งน้ำ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะเป็นไข้ มีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร

3.        โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis)
มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเจอี Japanese encephalitis (E) ที่มีพาหะนำโรค คือ ยุงรำคาญ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ท้องเสีย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อ และถ้าหากมีอาการสมองอักเสบรุนแรงผู้ป่วยจะซึมลงอย่างรวดเร็ว มีอาการชักรุนแรง และเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท

ดังนั้นเมื่อถึงหน้าฝนเราควรหลีกเลี่ยงบริเวณแหล่งที่มียุงชุมอย่างร้านอาหารริมแม่น้ำ ที่พักในเขื่อน เป็นต้น รวมถึงกำจัดแหล่งที่มีน้ำขังในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแอ่งน้ำ ที่รองกระถางต้นไม้ หรือภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะช่วยลดโอกาสติดโรคที่มียุงเป็นพาหะได้

 

กลุ่มโรคที่ติดเชื้อทางบาดแผล

เมื่อเกิดบาดแผลบนร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการถลอกหรือแผลเปิด แผลเหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านเนื้อเยื่อ ซึ่งในหน้าฝนจะมีโรคที่ติดเชื้อได้จากบาดแผลที่เราควรระวังอยู่ 2 โรคด้วยกัน ซึ่งได้แก่

1.        โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)
สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นติดเชื้อ ภูมิแพ้ ถูกสารเคมี เป็นต้น แต่ที่พบได้บ่อย และติดต่อกันได้ง่ายมาก คือโรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิดที่พบมากที่สุดคือ อะดีโนไวรัส (Adenovirus) รองลงมาคือ เฮอร์ปีส์ ไวรัส (Herpesvirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และค็อกซากี (Coxsackie) ผู้ป่วยจะมีอาการ ตาบวม และรู้สึกเคืองตามาก น้ำตาไหล เจ็บตา เพราะเยื่อบุตาที่คลุมภายในหนังตาและคลุมตาขาวเกิดการอักเสบ รวมถึงมีขี้ตามาก อาจเป็นเมือกใสหรือมีสีเหลืองอ่อนในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรีย

2.        โรคฉี่หนู  (Leptospirosis) 
โรคนี้เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อที่ก่อโรคฉี่หนู (Pathogenic Leptospires) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู หมู วัว ควาย และสุนัข เป็นต้น โดยสัตว์ที่เป็นพาหะจะไม่แสดงอาการแต่จะปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ และเชื้อจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำท่วมขัง ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ถ้าหากมีอาการรุนแรง จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง คอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ การทำงานของไตลดลง ปอดอักเสบ เลือดออกผิดปกติ อาจพบเลือดออกในปอด ดังนั้นถ้าหากไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

กลุ่มโรคที่ติดเชื้อไวรัส

สุดท้ายจะเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส นั่นก็คือ โรคมือ เท้า ปากซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า และอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก ผู้ที่ติดเชื้อจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีแผลในปาก มีผื่นเป็นจุดแดงขึ้นที่มือ เท้า (อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาร่วมด้วย)

 

ถึงแม้ว่าจะมีหลายโรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถดื่มด่ำไปกับความสดชื่นของฤดูฝนได้ เพียงแค่คอยดูแลรักษาสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสดใหม่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงหมั่นรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ และเมื่อมีอาการผิดปกติก็เข้ารับการตรวจเช็คกับแพทย์ เท่านี้ทุกคนก็จะแข็งแรงปลอดภัยจากโรคที่มากับสายฝนเหล่านี้แล้ว สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
http://bit.ly/3ERWzpc
http://bit.ly/3Jim06l

·       โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://bit.ly/3EQ5dEI
http://bit.ly/3J692Iu

·       โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/652
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/dengue
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/573
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/leptospirosis

·       โรงพยาบาลนครธน
https://bit.ly/3JaoNym

·       โรงพยาบาลบางปะกอก 3
https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/158
https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/179

·       โรงพยาบาลศิครินทร์
http://bit.ly/3YaJNsY

·       โรงพยาบาลราชวิถี
https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=3728

·       เว็บไซต์พบแพทย์
http://bit.ly/3ZhgR3E

·       โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3ZztXcn
http://bit.ly/3mJVR7j

 

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ