ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
11 เมษายน 2565

ข้อเท้าแพลง ข้อเท้าพลิกต้องทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง เป็นอาการที่เกิดจากอุบัติเหตุใกล้ตัวซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สาเหตุมาจากการเดินสะดุด ก้าวพลาด วิ่งหรือเดินอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการใส่รองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าที่ไม่พอดี ด้วยความห่วงใย วันนี้เราจึงมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาฝากกัน

อาการของข้อเท้าพลิก

เมื่อข้อเท้าพลิกผิดองศาและเอ็นหรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อเท้าได้รับบาดเจ็บ จะมีอาการไล่ระดับไปตั้งแต่การปวดบวมเล็กน้อย เนื่องจากเนื้อเยื่อและเอ็นข้อเท้าได้รับแรงกระทบไม่มาก ไปจนถึงอาการปวดรุนแรง เพราะเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นเกิดการฉีกขาด ทำให้ข้อเท้าไม่มั่นคง ซึ่งอาการสามารถแบ่งออกเป็นได้ 3 ระดับ

  • ระดับที่ 1 เอ็นข้อเท้ายืดหรือขาดเพียงเล็กน้อย จะพบเพียงอาการบวม เมื่อกดแล้วเจ็บตรงบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ยังสามารถเดินได้ตามปกติ มักจะหายภายใน 2 สัปดาห์
  • ระดับที่ 2 เอ็นข้อเท้าฉีกขาดเป็นบางส่วน ทำให้มีอาการปวดบวมค่อนข้างมาก อาจทำให้ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เต็มที่ อาการมักจะหายไปใน 4 – 6 สัปดาห์
  • ระดับที่ 3 เป็นระดับที่รุนแรงที่สุด เนื่องจากเอ็นรอบ ๆ ข้อเท้าฉีกขาดทั้งหมด ผู้ที่บาดเจ็บในระดับนี้จะไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ และส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดอาการข้อเท้าหลวม ต้องใช้เวลารักษา 6 – 10 เดือน จึงจะหายสนิท หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยหลัก “R.I.C.E.S.”

  • R = Rest พักการใช้งานข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอยู่แล้ว โดยลดการใช้งานของข้อเท้าให้น้อยที่สุด งดกิจกรรมหนัก ๆ เช่น การเดินลงน้ำหนักลงข้างที่บาดเจ็บ หรือ การเล่นกีฬา เป็นต้น
  • I = Ice ใช้น้ำแข็งหรือเจลลี่ประคบเย็นในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บประมาณ 15 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมงภายในเวลา 24 - 48 ชั่วโมงหลังได้รับบาดเจ็บ เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ลดอาการปวดและบวม
  • C = Compression ใช้ผ้ายืดพันบริเวณข้อเท้าเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว เพื่อลดอาการปวดบวมน้อยลง
  • E = Elevation ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี เช่น เวลานั่งควรยกเท้าพาดเก้าอี้ ไม่ควรนั่งห้อยขาเป็นเวลานาน หากนอนก็ให้ใช้หมอนรองขาให้สูงขึ้น
  • S = Stretch ยืดและบริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้าหลังอาการเจ็บลดลงและไม่มีอาการบวมแล้ว โดยค่อย ๆ เริ่มจากน้อยไปมาก โดยเน้นการยืดเหยียดดังนี้

o ใช้ท่ายืดเหยียดเอ็นร้อยหวาย ยืนให้ห่างจากกำแพง 1 ก้าว ใช้มือดันกำแพงและก้าวขาข้างที่ได้บาดเจ็บไปด้านหลังโดยให้ส้นเท้าติดพื้น ย่อเข่าข้างที่อยู่ด้านหน้าจนขาหลังรู้สึกตึง ทำท่านี้ค้างไว้ 30 วินาที ทำซ้ำ 4 - 5 ครั้ง
o ยืดกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าโดยการกระดกเกร็งข้อเท้าทุกด้าน เริ่มต้นจากนอนหรือนั่งยืดขาให้ขนานกับพื้น กระดกเกร็งข้อเท้าเข้าหาตัวเอง บิดไปทางซ้ายและขวาถือเป็น 1 ชุด ทำชุดละ 10 – 20 ครั้ง ทำซ้ำ 2 - 3 ชุด/วัน
o บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กรอบข้อเท้า ฝึกทรงตัว และฝึกการประสานงานของเส้นประสาท โดยการยืนบนกระดานฝึกทรงตัว ประมาณ 2 – 3 นาที/ครั้ง ทำซ้ำ 2 - 3 ครั้ง/วัน

หากท่านมีอาการข้อเท้าพลิก สามารถทำตามขั้นตอนดังกล่าว เพื่อช่วยบรรเทาการบาดเจ็บเบื้องต้นได้ ในกรณีที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้น เช่น ข้อเท้ายังมีอาการบวมมาก หรือเมื่อลงน้ำหนักที่เท้าแล้วรู้สึกปวด แสดงว่ากระดูกข้อเท้าอาจแตกหรือหัก จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้าน สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต สามารถดูรายละเอียดการบริการด้านสุขภาพ (KTAXA Health) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/HealthServices
อย่างไรก็ตามหากเราระมัดระวังในการเดินและวิ่ง ใส่รองเท้าให้พอดีเท้า หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่ยากต่อการทรงตัว รวมถึงไม่เล่นมือถือขณะเดิน ก็จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและป้องกันข้อเท้าพลิกได้

แหล่งที่มาของข้อมูล

• โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/605
• คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/th/infographics/195
• โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/ankle-sprain
• โรงพยาบาลบางประกอก9
https://www.bangpakokhospital.com/procedure/content/Ankle%20sprain
• คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=904

บทความสุขภาพที่สำคัญ