ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
06 มิถุนายน 2565

ดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ รู้จักโรคตับแข็ง อาการ คำแนะนำในการดื่ม

สำหรับวัยทำงาน เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการผ่อนคลายหลังเลิกงานด้วยการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งแน่นอนว่าหากดื่มมากเกินไป อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพหลายอย่าง ตั้งแต่อาการมึนเมา เสียการควบคุม ขาดสติ และถ้าดื่มหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็งได้ แต่จะดื่มอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้ล่ะ? เรานำความรู้เกี่ยวกับโรคตับแข็งมาฝาก รวมทั้งวิธีดื่มอย่างไรให้ปลอดภัยห่างไกลจากโรคนี้

 

มารู้จักโรคตับแข็ง

โรคตับแข็ง เป็นภาวะของโรคตับระยะสุดท้าย ที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังและทำให้สูญเสียเซลล์เนื้อตับ จนเกิดเป็นแผลและพังผืด ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ และมีภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นหยุดการทำงานจนนำไปสู่ภาวะตับวาย โรคตับแข็งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น โรคไวรัสตับอักเสบบี ซี ดี การรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน โรคทางพันธุกรรม เช่น Wilson Disease (คือความผิดปกติของตับที่ไม่สามารถขับทองแดงออกจากร่างกายได้) หรือได้รับสารพิษบางอย่างจนเกิดการสะสมในร่างกาย แต่หนึ่งในสาเหตุที่คนทราบกันดีคือ การดื่มสุรามาก ๆ ติดต่อกันเป็นช่วงเวลานานอาจทำให้เกิดโรคตับแข็งได้ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นให้เกิดไขมันสะสมในตับและเกิดการอักเสบตามมา ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่เมื่อมีการสะสมไขมันจากการดื่มแอลกอฮอล์เรื่อย ๆ เป็นเวลานาน ๆ ร่างกายก็จะฟื้นฟูไม่ทันทำให้เกิดเป็นพังผืดที่ตับขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลงนั่นเอง

 

ผู้ป่วยโรคตับแข็งมีอาการอย่างไร?

ช่วงแรกของอาการตับแข็ง จะไม่ค่อยแสดงอาการหรือน้อยมาก และเป็นการแสดงอาการแบบไม่จำเพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ คันตามผิวหนัง ในเวลาต่อมาเมื่ออาการหนักขึ้น ร่างกายจะเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนอย่างเช่น ดีซ่าน อาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในร่างกาย

 

ดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้ดี ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ?

แน่นอนว่าผู้ที่ชอบสังสรรค์และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ คงไม่สามารถเลิกดื่มได้ในทันที แต่ถ้าหากเราสามารถควบคุมการดื่มให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคตับแข็งได้ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้โดยวิธีเหล่านี้

·         กำหนดปริมาณในการดื่มต่อวัน มีเกณฑ์กำหนดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์แต่ละประเภทที่พอเหมาะ โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค และผู้หญิงควรดื่มไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค โดยมีปริมาณของหน่วยบริโภคแยกตามประเภทของเครื่องดื่มดังนี้ เบียร์ 360 มิลลิลิตร ไวน์ 150 มิลลิลิตร และสุรา 45 มิลลิลิตร

·         เลือกประเภทของแอลกอฮอล์ มีการศึกษาพบว่า การดื่มไวน์ในปริมาณที่พอเหมาะ มีความเป็นไปได้ที่จะลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากในไวน์มีฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย หัวใจและหลอดเลือด ส่วนที่มีโทษมากที่สุดก็คือเบียร์ เพราะนอกจากจะมีโทษแล้ว ยังมีแคลอรี่ที่สูงมากอีกด้วย

·         คำแนะนำในการดื่ม จิบน้ำในระหว่างที่ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ถ้าหากดื่มสุราควรดื่มควบคู่กับเครื่องดื่มที่มีแคลอรีต่ำ เช่นน้ำเปล่า หรือน้ำอัดลมแบบน้ำตาล 0% นอกจากนี้ยังควรรับประทานอาหารรองท้อง เพื่อลดอัตราการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย

 

แม้ว่าจะมีคำแนะนำในการดื่มให้ปลอดภัย และมีผลวิจัยมากมายถึงประโยชน์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังส่งผลในทางลบอื่น ๆ ได้ เช่นขาดสติ วู่วาม ประสิทธิภาพในการตัดสินใจลดลง จึงควรดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีสติในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งดูแลร่างกายในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดี ไร้โรคภัยต่าง ๆ

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่มีความสนใจในการดูแลสุขภาพ สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories หรือดูรายละเอียดการบริการด้านสุขภาพ (KTAXA Health) จากเราได้ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/HealthServices

แหล่งที่มาของข้อมูล

·         งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3JwD3hZ
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/13595/

·         โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/cirrhosis

·         โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/34JDvuE

·         เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3sH2o29
https://bit.ly/3uZVXdn

บทความสุขภาพที่สำคัญ