ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
18 พฤษภาคม 2565

เคลียข้อสงสัย มีแผลในปากเป็นร้อนใน หรือเป็นเริมกันแน่

โรคร้อนในเป็นโรคที่ไม่รุนแรงแต่กวนใจ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเกือบทุกเดือน อาการร้อนในทำให้เกิดอาการแสบร้อนเมื่อรับประทานอาหารรสจัด อย่างไรก็ตามร่างกายสามารถรักษาอาการร้อนในได้เอง แต่ถ้าหากมีตัวช่วยก็จะหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้หลายคนอาจมีความสับสนระหว่างแผลร้อนในและโรคเริม วันนี้เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับแผลร้อนในและวิธีการรักษาเบื้องต้น พร้อมคำแนะนำในการป้องกันอาการร้อนในมาฝากกัน

แผลร้อนในเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดอาการร้อนใน แต่มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดแผลร้อนใน ได้แก่ การตอบสนองของแบคทีเรียในปาก เชื้อไวรัส แผลในปากที่เกิดจากการเคี้ยวผิดจังหวะหรืออุปกรณ์ทันตกรรมในช่องปาก ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ในช่วงก่อนมีประจำเดือน การพักผ่อนหรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ การแพ้อาหาร หรือขาดวิตามินและแร่ธาตุ เป็นต้น โดยปกติแล้วอาการร้อนในจะสามารถหายได้เป็นปกติเองใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการยาวนานหรือเจ็บปวดมากกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์

ร้อนใน VS เริม

เนื่องจากมีอีกโรคหนึ่งที่มีอาการคล้ายคลึงกับอาการร้อนใน นั่นก็คือโรคเริม ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Herpe Simplex Virus (HSV) สามารถติดต่อได้จากน้ำลาย การดื่มน้ำหรือดูดน้ำแก้วเดียวกัน การรับประทานอาหารที่ไม่ใช้ช้อนกลาง เป็นต้น หลายคนเมื่อมีแผลในปากจึงมีความกังวล เราจึงมีข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างร้อนในกับเริมดังนี้

  • ร้อนใน – แผลขนาดเล็กตื้น สีเหลืองหรือขาวล้อมรอบด้วยสีแดง เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เหงือก บริเวณด้านในริมฝีปาก แก้มหรือลิ้น บางครั้งเกิดเพียงจุดเดียว แต่ก็อาจะเกิดขึ้นหลายแผลพร้อมกันได้ ไม่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือเป็นเม็ด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ไม่สามารถรับประทานอาหารได้สะดวก หรืออาจทำให้พูดคุยลำบากในบางกรณี แผลร้อนในไม่ใช่โรคติดต่อ
  • เริม – มีลักษณะเป็นตุ่มใสบนผิวหนัง เช่น ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับงูสวัดและอีสุกอีใส มีอาการเจ็บปวดหรือแสบ รู้สึกคันยิบ ๆ รอบ ๆ ริมฝีปาก รวมถึงจะมีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลียและปวดเมื่อตามตัว เมื่อเป็นครั้งแรกอาจมีอาการรุนแรงและหายช้า แต่ถ้าติดเชื้อซ้ำ อาการจะไม่รุนแรงและหายเร็วขึ้น

วิธีการรักษาร้อนในเบื้องต้น

  • รักษาสุขอนามัยของช่องปาก เช่น ล้างปากด้วยน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน วันละ 2-3 ครั้ง
  • เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ขนมหวานเหนียว และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ลดความเจ็บปวดจากแผลด้วยการรับประทานโยเกิร์ตหรือไอศกรีม
  • หากมีแผลรุนแรงให้ใช้ยาป้ายเฉพาะจุดที่ซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไป เพื่อลดอาการเจ็บและอักเสบ ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  • หากแผลยังไม่ดีขึ้นหลังจาก 3 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนใน

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายเพื่อลดความเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เลี่ยงอาหารทอดและมัน
  • ดื่มน้ำเยอะ ๆ ควรเป็นน้ำอุณภูมิห้อง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ดังนั้นเราจึงควรหมั่นรักษาสุขภาพทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ทานอาหารที่มีประโยชน์และหาเวลาออกกำลังกายอยู่เสมอ เพียงเท่านี้เราก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจไร้กังวล
สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิตที่มีความกังวล ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือตรวจเช็คอาการเบื้องต้น สามารถใช้บริการ Symptom Checker ผ่านแอปพลิเคชัน Emma by AXA ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/emma-by-axa

แหล่งที่มาของข้อมูล

• คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://1th.co/go5xV5xV5xV
• Mayo Clinic
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/canker-sore/diagnosis-treatment/drc-20370620
• โรงพยาบาลสุขุมวิท
https://www.sukumvithospital.com/healthcontent.php?id=3
• โรงพยาบาลเปาโล
https://1th.co/go5xW5xW5xW
https://1th.co/go5xX5xX5xX
• เว็บไซต์พบแพทย์
https://1th.co/go5xY5xY5xY

บทความสุขภาพที่สำคัญ