ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
02 มิถุนายน 2565

เบื่ออาหาร รู้หรือไม่ ตัวการสาเหตุของ อาการนี้มาจาก 3ปัญหาหลักๆ ข้อมูลน่ารู้คลิก

ถึงแม้อาหารจะดูน่ารับประทานแค่ไหน แต่บางครั้งคุณอาจจะเกิดอาการไม่อยากรับประทานอาหารขึ้นมา หรือบางทีต้องฝืนรับประทานอาหารเพราะถึงเวลาที่ต้องทาน ทั้งนี้เป็นเพราะมีปัจจัยในชีวิตด้านต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ทำให้เรารู้สึกเบื่ออาหาร ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ไม่หาทางแก้ไขก็จะส่งผลต่อสุขภาพ ร่างกายจะขาดสารอาหารและอ่อนแอ อาการเบื่ออาหารมีสาเหตุหลัก 3 สาเหตุ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยา

 

อาการของการเบื่ออาหาร

            ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารจะรู้สึกไม่เจริญอาหาร ไม่อยากรับประทานแม้แต่อาหารที่เคยชอบ ส่งผลให้น้ำหนักตัวน้อยลงและมีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจและสภาวะทางกาย ได้แก่ ความรู้สึกหดหู่เสียใจ เบื่อหน่ายไม่มีแรงจูงใจให้ทำสิ่งที่เคยชอบ มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อยลง นอนไม่หลับ ท้องผูก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็วมากหรือเต้นช้าจนผิดปกติ มีไข้หรืออุณหภูมิต่ำลง

 

การเบื่ออาหาร (Loss of Appetite) เกิดจากอะไร

1.        ปัญหาสุขภาพกาย โดยปกติแล้วอาการเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพมักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งจะมีอาการหวัดร่วมด้วย เช่น ไอ อ่อนเพลีย หรือจาม นอกจากนี้ยังมีปัญหาสุขภาพด้านอื่น ได้แก่ สมองเสื่อม หัวใจวาย ตับวายเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไวรัสตับอักเสบ ติดเชื้อเอชไอีวี ไฮโปไทรอยด์ รวมถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ช่วงแรกก็อาจมีอาการเบื่ออาหารเช่นกัน

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่มักมีอาการเบื่ออาหารเช่นกัน นั่นก็คือผู้ป่วยมะเร็งไม่ว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น เพราะในผู้ป่วยมะเร็งร่างกายจะผลิตสาร Interleukin 1B และ Leptin โดย Interleukin 1B เป็นสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ไปยัง Vagus Nerve เส้นประสาทคู่ที่ 10 ซึ่งจะส่งผ่านการรับความรู้สึกไปยังก้านสมอง (Brain Stem) และ ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ที่มีส่วนในการควบคุมความอยากอาหาร ส่วน Leptin นั้นเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์ไขมัน (Adipocyte Cell) แล้วถูกขนส่งผ่านเข้าไปในแนวกั้นเลือดสมอง (Blood Brain Barrier) ซึ่งทำให้เกิดอาการอิ่มนั่นเอง

2.        ปัญหาสุขภาพจิต คนที่มีความเครียด อาการซึมเศร้า เสียใจมาก ๆ เบื่อหน่าย หรือกังวลมีแนวโน้มที่จะรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารได้เหมือนปกติ รวมไปถึงผู้ที่มีสภาวะการกินผิดปกติ (Eating Disorders) เช่น ผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) ที่มีพฤติกรรมรับประทานอาหารให้น้อยลงเพื่อควบคุมน้ำหนักจนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น หากปล่อยไว้ผู้ป่วยจะเกิดสภาวะขาดสารอาหารและล้มป่วยได้

3.        ปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยยาที่ส่งผลให้เกิดความอยากอาหารน้อยลง ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ยาโคเดอีน (Codeine) และมอร์ฟีน

 

           

เบื่ออาหารแค่ไหน ถึงควรไปพบแพทย์

เมื่อเริ่มเกิดอาการต่อไปนี้ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยทันที

-          คลื่นไส้และไม่สามารถรับประทานอาหารต่อเนื่องกันหลายวัน

-          น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งในทางการแพทย์นั้นน้ำหนักที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือใน 1 เดือนน้ำหนักลดลงมากกว่า 5% ของน้ำหนักร่างกาย หรือใน 3 เดือนน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% เช่น ถ้าหากหนัก 50 กิโลกรัม แล้วน้ำหนักลดมากกว่า 2.5 กิโลกรัมใน 1 เดือนหรือน้ำหนักลดมากกว่า 5 กิโลกรัมใน 3 เดือน เป็นต้น

-          ไม่ได้ขับถ่ายทั้งหนักและเบาเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 2 วันขึ้นไป

-          ปัสสาวะออกน้อย มีกลิ่นแรง และมีสีเข้ม

-          อาเจียนมากกว่า 24 ชั่วโมง

-          ไม่สามารถดื่มน้ำหรือกลืนของเหลวลงคอได้

-          มีอาการปวดท้องรุนแรง

-          มีสภาวะขาดประจำเดือน

           

วิธีการรักษาอาการเบื่ออาหาร

            การรักษาอาการเบื่ออาหารจำแนกออกตามสาเหตุของการเกิด ได้แก่

1.        อาการเบื่ออาหารที่เกิดจากปัญหาสุขภาพกาย ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสจะมีอาการดีขึ้นตามลำดับได้เองหลังอาการของโรคได้ถูกรักษาแล้ว หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่ขาดสารอาหารและมีเกลือแร่ในร่างกายต่ำจะได้รับน้ำเกลือหรือสารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคเรื้อรัง การรักษาอาการเบื่ออาหารนั้นทำได้ยาก แต่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น ได้แก่

·         รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนและครอบครัว เป็นการสร้างบรรยากาศความสุขให้ผู้ป่วยสนุกกับการรับประทานมากขึ้น

·         รับประทานมื้อใหญ่มื้อเดียวในปริมาณที่ต้องการ ไม่ฝืนมากเกินไป และเพิ่มขนมหรือผลไม้ระหว่างวัน

·         แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ประมาณ 5 -6 มื้อ

·         รับประทานอาหารที่มีโปรตีนให้เพียงพอ

·         ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน

·         ออกกำลังกายเบา ๆ หลังมื้ออาหาร 1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นน้ำย่อยในอาหาร

2.        อาการเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพจิต เข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์

3.        อาการเบื่ออาการจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอเปลี่ยนยา ไม่ควรตัดสินใจเปลี่ยนหรือปรับปริมาณยาเอง

 

อาการเบื่ออาการจะหายไปเมื่อได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ หมั่นดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เพื่อจะได้สามารถสนุกกับอาหารที่คุณโปรดปราณได้ยาวนาน

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ท่านสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้น (Symptom Checker) หรือปรึกษาแพย์ออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Emma by AXA กดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมทั้งยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/emma-by-axa

แหล่งที่มาของข้อมูล

·         คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/fammed/th/palliativecare/symptoms/doctorpalliative15th

·         เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3rA4p0y
https://bit.ly/3iHdijW

·         Medical News Today
https://www.medicalnewstoday.com/articles/324011#causes

บทความสุขภาพที่สำคัญ