ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
18 พฤษภาคม 2565

ปัญหาของคุณแม่ เมื่อลูกแพ้นมวัว ผื่นขึ้น ท้องเสีย มีนมสำหรับเด็กแพ้นมวัวหรือไม่

ถึงแม้ว่านมวัวจะเป็นนมที่อุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม เป็นแหล่งรวมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย แต่ก็พบว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่มีอาการแพ้นมวัว จึงมีนมทางเลือกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนมถั่วชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงนมแพะ ที่มีคุณค่าทางสารอาหารใกล้เคียงกับนมวัว แต่ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับนมแพะ มาทำความเข้าใจกับสาเหตุของการแพ้นมวัว โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากสองสาเหตุ ดังนี้

• การย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose Intolerance) ในนมวัวจะมีน้ำตาลที่ชื่อว่าแลคโตสเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในการย่อยแลคโตสนี้ มีความจำเป็นที่ต้องใช้เอนไซม์แลคเตสในการย่อยที่บริเวณลำไส้เล็ก แต่ถ้าหากร่างกายมีปริมาณเอนไซม์แลคเตสปริมาณน้อย หรือไม่สามารถผลิตได้ เรียกว่าอยู่ในภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส (Lactase Deficiency) จะทำให้น้ำตาลแลคโตสไม่ถูกย่อย และสะสมในลำไส้ใหญ่ เกิดออกมาเป็นแก๊สและของเหลวในลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด คลื่นไส้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากดื่มนมประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง

• โรคแพ้โปรตีนในนมวัว (Cow Milk Protein Allergy) มักพบในเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดที่โดยส่วนใหญ่พ่อหรือแม่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ หรือมีการกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ตั้งแต่ในครรภ์ โดยจะส่งผลต่อผิวหนัง (ผื่นแดง หรือ ลมพิษ) ทางเดินหายใจ (คัดจมูกเรื้อรัง มีเสมหะ น้ำมูกไหล ไอแห้ง นอนกรน หอบ หายใจมีเสียง) และทางเดินอาหาร (อาเจียน ท้องเสียเฉียบพลัน ถ่ายเหลวหรือท้องผูกเรื้อรัง) สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการแพ้คือระบบย่อยอาหารในกระเพาะยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นและค่อย ๆ หายไปเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น วิธีการป้องกันการแพ้ คือ งดนมวัวเป็นเวลา 1 ปี คุณพ่อคุณแม่ที่กังวลว่าเด็กจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจจะต้องให้ลูกทานนมอื่น ๆ ในช่วงนี้แทน เช่น นมแม่ นมแพะ เป็นต้น

คุณประโยชน์ของนมแพะ

นมแพะ เป็นนมที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร โดยนมแพะ 1 แก้ว (หรือ 250 มล.) ให้โปรตีนถึง 9 กรัม และยังมีแคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียมในปริมาณที่สูงอีกด้วย เรียกได้ว่ามีสารอาหารไม่ต่างจากนมวัวนัก รวมถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ที่นมแพะเป็นตัวเลือกที่ดี เช่น
• มีโปรตีนที่ย่อยง่าย เมื่อนมแพะลงไปเจอกรดในกระเพาะอาหารก็จะจับตัวเป็นลิ่มน้ำนมที่อ่อนนิ่มกว่านมวัว เพราะในนมแพะมีโปรตีนเบตาเคซีนสูงกว่านมวัว 2 เท่าและยังมีโปรตีนชนิดที่ร่างกายย่อยได้ยากอย่างแอลฟ่า เอสวัน เคซีนน้อยกว่านมวัวถึง 8 เท่า ทำให้ร่างกายสามารถย่อยนมแพะได้ดีกว่า แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนหรือโรคกระเพาะอาหารดื่มนมแพะแทนนมวัว
• มีชนิดของไขมันที่มีขนาดเล็กว่านมวัว โดยไขมันสายโซ่ปานกลางและสายโซ่สั้นในนมแพะจะมีสัดส่วนมากกว่าในนมวัว ทำให้เอนไซม์สามารถย่อยไขมันได้ดีขึ้น ร่างกายจึงใช้กระบวนการย่อยและเวลาน้อยกว่านมวัว
• มีแลคโตสน้อยกว่านมวัว โดยในนมแพะมีปริมาณน้ำตาลแลคโตส 4.1% ซึ่งน้อยกว่านมวัวที่มีน้ำตาลแลคโตส 4.7%

อย่างไรก็ตาม คนที่แพ้โปรตีนในนมวัวก็มีสิทธิ์ที่จะแพ้นมแพะได้เช่นกัน เพียงแค่มีความเป็นไปได้ที่น้อยกว่า เพราะปริมาณของโปรตีนแต่ละประเภทที่เป็นต้นเหตุของอาการแพ้ไม่เท่ากัน ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้มาจากน้ำเหลืองนมวัว (Bovine Serum) จะสามารถรับประทานนมแพะได้โดยไม่มีอาการแพ้ ส่วนคนมีภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่องนั้น นมแพะจะไม่ได้ช่วยให้อาการเหล่านั้นหายไป แต่จะช่วยบรรเทาอาการให้น้อยลงเท่านั้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีนมประเภทต่าง ๆ ให้เลือกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนมวัวที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตสที่จะช่วยในส่วนของคนที่มีภาวะการย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง หรือนมจากพืช เช่น นมถั่วเหลืองที่ให้โปรตีนในปริมาณที่ใกล้เคียงกับนมวัว หรือนม Almond ที่ให้พลังงานต่ำ เหมาะสำหรับคนที่คุมปริมาณแคลอรี แถมยังอุดมไปด้วยวิตามิน E และสำหรับคนที่แพ้ถั่วนั้นก็ยังมีตัวเลือกอื่นอย่างเช่น นมข้าวและนมข้าวโพด ที่ให้พลังงานใกล้เคียงกับนมวัว แต่มีปริมาณโปรตีนน้อยกว่า รวมถึงมีน้ำตาลสูงจึงควรระมัดระวังในการรับประทาน

แต่ถ้าหากใครมีความกังวลแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการสาเหตุการแพ้ที่ถูกต้อง เพื่อจะได้เลือกประเภทของนมให้เหมาะสมกับร่างกายของเรา สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิตสามารถขอคำแนะนำเบื้องต้นได้จากบริการ กรุงไทย-แอกซ่า TeleHealth ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth_campaign=WellnessConsultation

แหล่งที่มาของข้อมูล

• Mayo Clinic
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lactose-intolerance/symptoms-causes/syc-20374232
• สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย
http://allergy.or.th/2016/resources_expert_detail.php?id=100
• ศูนย์หนังสือจุฬา
https://m.chulabook.com/blog/35/83
• เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3AAN5f2
• คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3H2V9Yf

บทความสุขภาพที่สำคัญ