ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
18 พฤษภาคม 2565

อาการนอนกรน อันตรายหรือไม่ กลไกล สาเหตุ แนวทางการรักษาอาการนอนกรน

คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่? นอนกรนเสียงดังจนคนข้าง ๆ ต้องปลุกกลางดึกหรือต้องแยกห้องนอน สะดุ้งตื่นกลางดึกหรือนอนกระสับกระส่าย บางทีอาจรู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม ปวดศีรษะ อ่อนเพลียหลังตื่นนอน หงุดหงิดง่าย ความสามารถในการจดจำลดลง ปากแห้ง คอแห้งในตอนเช้า เพราะต้องหายใจทางปากในตอนกลางคืน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับภาวะข้างต้น อาการนอนกรนกำลังส่งสัญญาณให้ต้องเริ่มทำความเข้าใจและแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น

กลไกการเกิดอาการนอนกรน

การกรนเกิดจากทางเดินหายใจตอนบนบริเวณช่วงลำคอตีบ ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อที่ด้านหลังลำคอรวมถึงลิ้นไก่และเพดานอ่อนคลายตัวขณะนอนหลับ แล้วไปอุดกั้นทางเดินหายใจทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เมื่อเราหายใจเข้า อากาศจะเคลื่อนที่ผ่านทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ ทางเดินหายใจ ลิ้นไก่และเพดานอ่อนเกิดการสั่นสะเทือนและเกิดเป็นเสียงกรนนั่นเอง ยิ่งกล้ามเนื้อหย่อนตัวมากเท่าไหร่ เสียงกรนก็จะดังมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นอุดตันทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

สาเหตุก่ออาการนอนกรน

แม้ว่าอาการนอนกรนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างร่างกายของเราเอง เช่น คางเล็กหรือร่นไปด้านหลัง ช่วงคอสั้น เป็นต้น แต่ยังมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการนอนกรนมากขึ้น เช่น
• มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือมีภาวะอ้วน เพราะช่องหายใจมีขนาดเล็กลงเนื่องจากมีไขมันส่วนเกินมาสะสมบริเวณลำคอ
• ทานยานอนหลับหรือยาระงับประสาท เพราะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้กล้ามเนื้อที่ลำคอหย่อนตัวมากขึ้น ทางเดินหายใจจึงแคบลงนั่นเอง
• สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณลำคอระคายเคืองและบวม ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลง
• เป็นโรคที่ส่งผลให้ทางเดินหายใจอุดตัน เช่น โรคภูมิแพ้ที่มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต ป่วยเป็นโรคที่ส่งผลต่อฮอร์โมนอย่างภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
นอกจากนี้เรื่องเพศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออาการนอนกรน อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าส่วนใหญ่อาการนอนกรนมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างกล้ามเนื้อในส่วนของลำคอของผู้ชาย ที่มีช่องทางเดินหายใจส่วนบนใหญ่กว่ากล่องเสียงอยู่ต่ำลงมา ทำให้เกิดช่องที่มีพื้นที่กว้างด้านหลังลำคอ เกิดการขยายเสียงจึงทำให้เกิดเสียงกรนได้ง่ายกว่านั่นเอง
ในทางกลับกันสำหรับผู้หญิงมีผลวิจัยออกมาว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนช่วยลดอาการนอนกรน โดยทำการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างช่วงวัย พบว่าช่วงวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเกิดอาการนอนกรนมากกว่า รวมถึงทำการทดสอบ เปรียบเทียบกลุ่มผู้หญิงที่หมดประจำเดือน โดยทดสอบระหว่างกลุ่มคนที่มีการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormonal Replacement Therapy) และไม่ได้รับการบำบัด พบว่าผู้ที่ได้รับการบำบัดเกิดอาการนอนกรนน้อยกว่า ดังนั้นโอกาสการเกิดอาการนอนกรนระหว่างเพศชายและเพศหญิงจึงกลับมาเท่า ๆ กันในช่วงวัยสูงอายุ

หยุดหายใจขณะหลับ ภาวะแทรกซ้อนของอาการนอนกรน

อาการนอนกรนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทันที เมื่อมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เข้ามาแทรกซ้อน เพราะนั่นหมายถึงอันตรายที่จะค่อย ๆ ส่งผลร้ายจนถึงชีวิตได้ เนื่องจากร่ายกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการอ่อนพลียหรือง่วงนอนในเวลากลางวัน อาจทำให้เกิดการเผลอหลับในขณะทำกิจกรรมระหว่างวัน เช่น เข้าฟังประชุม ขณะขับรถ เป็นต้น ซึ่งในบางครั้งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้
โดยภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ เพราะในขณะหลับจะเป็นช่วงที่สมองกำลังพักผ่อนกล้ามเนื้อจะทำงานน้อยลง ท่อทางเดินหายใจส่วนต้นก็จะหดตัวเข้าหากัน ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ ร่างกายจึงตอบสนองโดยพยายามหายใจแรงขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นบ่อย ๆ ทำให้หลับไม่ลึกหรือตื่นขึ้นมากลางดึก ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมถึงจะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดอาจเกิดขึ้นได้เพียงเสี้ยววินาทีในช่วงเวลาของการนอนหลับ

แนวทางการรักษาอาการนอนกรน

สำหรับผู้มีอาการไม่รุนแรง เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก เลิกการสูบบุหรี่ เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง นอนหมอนสูง เป็นต้น รวมถึงอุปกรณ์ที่ช่วยลดอาการนอนกรน เช่น แผ่นแปะจมูกหรือ Nasal Strip ที่จะช่วยขยายทางเดินหายใจบริเวณจมูก แผ่นแปะคางหรือ Chin Strip ที่ช่วยป้องกันไม่ให้อ้าปากขณะนอนหลับ และอีกหนึ่งตัวเลือกที่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบันก็คือ เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกหรือ CPAP (ซีแพ็พ) เพราะมีประสิทธิภาพสูงในการช่วยขยายทางเดินหายใจส่วนต้น โดยใช้แรงดันเป่าลมผ่านท่อสายยางไปยังจมูก ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทำการทดสอบกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เพื่อปรับค่าแรงดันที่เหมาะสมในครั้งแรกก่อน ส่วนคนที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงมาก แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัด การเจาะคอ หรือการใช้ยาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังนั้นถ้าหากใครที่เริ่มมีการนอนกรนจึงควรหมั่นสังเกตอาการตนเองและไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและคำวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุด สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ท่านสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพด้านต่าง ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/HealthServices

แหล่งที่มาของข้อมูล

• โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3qSIcur
• เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3AskiZU
https://bit.ly/3rIPv76
• คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=332
• เว็บไซต์ Verywellhealth
https://www.verywellhealth.com/why-men-snore-2328459
• SpringerLink (Research)
https://link.springer.com/article/10.1007/s11325-016-1447-4

บทความสุขภาพที่สำคัญ