ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
09 สิงหาคม 2564

เอวหนา อ้วนลงพุง ภัยเงียบเสี่ยงสารพัดโรค เช็คดัชนีมวลกายด่วน

สำหรับภาวะอ้วนลงพุง หรือการมีรอบเอวหนา ถือว่าเป็นหนึ่งปัญหาคลาสสิกตลอดกาลในการดูแลสุขภาพก็ว่าได้ และพบว่าทั่วโลกมีประชากรที่มีปัญหาในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นในตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันหลายสมาคมทางการแพทย์ได้จัดให้ภาวะอ้วนลงพุง ถือเป็นโรคโรคหนึ่งไปแล้ว เนื่องจากการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเฝ้าระวังโรคระบาด ที่หลายคนเพลิดเพลินไปกับการรับประทานอาหารที่บ้านตลอดเวลา เพราะต้อง Work From Home ทั้งทำอาหารเอง สั่งเดลิเวอรี และถ้ายิ่งจัดเต็มกับอาหารที่มีไขมัน น้ำตาลและโซเดียมสูงแล้วล่ะก็ น้ำหนักและรอบเอวต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหานี้ เราอยากชวนให้มาตระหนักถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ จากภาวะอ้วนลงพุง พร้อมหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อให้รูปร่างดีขึ้น และมีของแถมเป็นสุขภาพที่ดีอีกด้วย

ภัยเงียบรอบเอว

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าความอ้วนคือภัยเงียบ เพราะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแทบทุกระบบของร่างกาย นำไปสู่โรคต่างๆ มากกว่า 20 โรค ซึ่งที่จะกล่าวในบทความนี้เป็นเพียงส่วนนึง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเข่าเสื่อมจากการที่เข่าต้องรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป โรคมะเร็งหลายชนิด ความผิดปกติต่อระบบสืบพันธุ์ หรือโรคที่เป็นผลมาจากการมีระดับคอเลสเตอรอลสูง เช่น โรคไขมันเกาะตับ ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น นอกจากนี้ ความอ้วนยังส่งผลต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตของร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ความอ้วนยังส่งกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ความดันหลอดเลือดปอดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) โรคหอบหืด ความอ้วนมีผลต่อภาวะดื้ออินซูลินที่หลั่งในรางกาย ซึ่งจะตามมาด้วยการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานอีกด้วย ทั้งนี้โรคที่กล่าวไปข้างต้นยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และยังมีข้อมูลสนับสนุนว่า ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมอย่างอัลไซเมอร์อีกด้วย อีกทั้งความอ้วนยังเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการดำเนินโรคที่ไม่ดีในการเจ็บป่วยหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือแม้กระทั่งโควิด-19 ที่พบว่า คนอ้วนมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าเพราะมีโรคที่รุนแรงมากกว่าถ้าเทียบกับคนที่น้ำหนักปกติ ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราปล่อยให้รอบเอวขยายไปเรื่อย ๆ โรคก็จะรุมเร้าจนยากที่จะรับมือ

อ้วนแค่ไหน เช็คได้

การสังเกตด้วยตาเปล่านั้นอาจไม่เพียงพอ ถ้าจะให้มั่นใจว่าสัดส่วนของเราเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เรามีหลักการตรวจสอบง่าย ๆ ซึ่งก็คือการหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ที่สามารถคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยเกณฑ์วินิจฉัยโรคอ้วนในคนไทยและคนเอเชีย ใช้ค่าดัชนีมวลกาย ≥25 กิโลกรัม/เมตร2 ส่วนรอบเอวจะวัดด้วยหน่วยเซนติเมตร ผู้ชาย ≥90 ซม. และ ผู้หญิง ≥80 ซม. หากใครมีค่าเกินมาตรฐานข้างต้น แสดงว่าคุณกำลังลงพุงแล้ว

ลดพุง เริ่มที่ใจ

เมื่อทราบว่าค่าดัชนีมวลกาย หรือมีรอบเอวเกินมาตรฐานไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่ควรหันมาดูแลใส่ใจร่างกายมากขึ้น เพื่อไม่ให้โรคร้ายต่าง ๆ มาถามหาโดยไม่รู้ตัว การลดน้ำหนักที่ได้ผลต้องประกอบไปด้วยการลดปริมาณพลังงานของอาหารที่รับประทานในแต่วันและออกกำลังกาย (Moderate Intensity Physical Activity) เพื่อช่วยคงน้ำหนักที่ลดลงมาให้คงที่ มาเริ่มกันที่เรื่องอาหารก่อน การปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อลดน้ำหนักให้มีสุขภาพดีมีหลายวิธี ในที่นี้เรามีสูตรที่ทำได้ง่าย ๆ มาแนะนำให้ นั่นคือ สูตร 2:1:1 แต่ละมื้อแบ่งอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วน เป็นผัก อีก 1 ส่วนเป็นข้าวหรือแป้ง และอีก 1 ส่วนเป็นโปรตีน และสูตร 6:6:1 คือ กินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้อาหาร คือการออกกำลังกาย ซี่งจะเรียกการออกกำลังกายเสียทีเดียวก็ไม่ถูก เพราะมันสามารถเป็นการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันให้มีอาการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น เช่น การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การทำสวน การทำงานบ้าน เป็นต้น ซึ่งตามคำแนะนำระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน ในส่วนของการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่อาจควบคู่กันไปด้วยในผู้ป่วยโรคอ้วนบางรายได้แก่ การใช้ยาตามดุลพินิจของแพทย์ หรือการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารในรายที่มีน้ำหนักเกินมากร่วมกับมีโรคร่วมอื่น ๆ เหนือสิ่งอื่นใดคือ “ใจ” ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อตัวเอง และด้วยตัวเอง...ดังนั้นการมีน้ำหนักที่เหมาะสม จะช่วยให้คุณจะไกลจากโรคอีกมากมาย

ตรวจสอบความถูกต้องของบทความโดย พญ.ปฐวี บุญตานนท์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

แหล่งที่มาของข้อมูล

• งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

https://1th.co/go2JN2JN2JN

• ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=759

• กรมประชาสัมพันธ์

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/12561

• Pegueroles J,et al. Oncotarget. 2018 Oct 5; 9(78): 34691–34698.

• Upadhyay J, et al. Med Clin North Am.2018 Jan;102(1):13-33.

• https://www.cdc.gov/healthyweight/physical_activity/index.html

• Ryan DH, et al. Med Clin North Am. 2018 Jan;102(1):49-63.

บทความสุขภาพที่สำคัญ