ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
13 ธันวาคม 2564

5 Stages of Grief วิธีคิดบวก จัดการกับอารมณ์ เมื่อชีวิตต้องสูญเสียคนที่เรารัก

เราทุกคนเกิดมาล้วนแต่ต้องเคยเผชิญกับความผิดหวัง เสียใจ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องงาน ความรัก สุขภาพ หรือการใช้ชีวิต แต่การจะก้าวข้ามความรู้สึกนี้ไปได้นั้น เราจะต้องเข้าใจ และรู้เท่าทันความรู้สึกของเราให้ได้ ในทางทฤษฎีตามหลักจิตวิทยาได้มีการกำหนดการก้าวผ่านความสูญเสียเป็น 5 ข้อ หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า 5 Stages of Grief ดังต่อไปนี้

Stage1: Denial

การปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกลไกการป้องกันตัวที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับความเสียใจอย่างกะทันหัน ในระยะนี้เราจะรู้สึกงุนงงและไม่เชื่อสิ่งที่รับรู้ และคิดว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง ยังมีโอกาสที่สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ การปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพื่อให้เราได้ใช้เวลาซึมซับความเจ็บปวดในระยะแรกได้ และเมื่อเราพร้อมอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ก็จะผุดขึ้นมา และพาเราไปสู่ขั้นตอนต่อไป

Stage2: Anger

ความโกรธและไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งความเจ็บปวดก็เปลี่ยนมาเป็นความโกรธ เราอาจจะตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นเราที่ต้องเจอเรื่องแบบนี้?” หลายครั้งความโกรธก็คือความกลัวหรือการปฏิเสธสิ่งที่ต้องเผชิญ เราอาจจะเอาความโกรธไปลงกับสิ่งของ กับคนแปลกหน้า กับคนรอบตัว หรือแม้แต่กับชีวิตของตัวเองก็ได้ บ่อยครั้งที่เราอาจจะโกรธคนหรือสิ่งที่เราสูญเสียไป และกล่าวโทษว่านั่นคือต้นเหตุของความทรมาน ภายใต้ความโกรธที่พลุ่งพล่านที่จริงแล้วก็คือความเจ็บปวด ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่น่ารื่นรมย์ แต่มันก็คือขั้นตอนที่จะต้องผ่าน และอาจจะเป็นวิธีที่ส่งเรากลับเข้าไปเผชิญกับผู้คนและสถานการณ์หลังจากการปลีกวิเวกในระยะของการปฏิเสธความจริงในช่วงแรก

Stage3: Bargaining

ช่วงเวลาของต่อรองกับตัวเอง และพยายามแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ในระยะนี้เราจะรู้สึกอยากทำอะไรก็ได้ให้ชีวิตกลับมาปกติสุขเหมือนก่อน เราอาจจะถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า “ถ้าเกิดว่า...” ความรู้สึกผิดอาจจะถาโถมเข้ามาในระยะนี้ เราจะรู้สึกอยากกลับมาเป็นคนควบคุมชีวิตและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก

Stage4: Depression

ระยะเวลาของความเศร้าเสียใจ ระยะนี้ไม่มีรูปแบบ และเวลาตายตัวที่จะข้ามผ่านจุดนี้ได้ ความเศร้าไม่ใช่อาการของการป่วยทางจิต แต่เป็นเรื่องปกติธรรมชาติที่เราตอบสนองต่อการสูญเสีย ในช่วงเวลานี้เราจะได้เริ่มเผชิญหน้ากับความจริงตรงหน้า และความสูญเสียที่เกิดขึ้น ความเศร้าก็มีหลายรูปแบบ เช่น ความรู้สึกอ่อนล้า สับสน ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกิน ไม่อยากนอน ไม่อยากตื่น ไม่มีความสุขกับอะไรได้เลย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวทั้งสิ้น และเมื่อเราพร้อมเราก็จะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

Stage5: Acceptance

พร้อมยอมรับความจริง การยอมรับความจริงไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าเรารู้สึกดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นความเข้าใจยอมรับ และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เราอาจจะใช้เวลายาวนานกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องที่เกิดขึ้นอีก แต่เวลาและประสบการณ์ช่วยให้เรามองย้อนกลับมารับรู้สิ่งเกิดขึ้นในมุมมองที่ต่างออกไป

แนวทางการรับมือกับความเศร้า

  • สังเกตและยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ให้โอกาสตัวเองระบายความรู้สึกผ่านการเล่าให้คนที่ไว้ใจฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว
  • การเขียนแสดงความรู้สึกผ่านตัวหนังสือ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยคลายความเจ็บปวด ให้เวลากับตัวเองได้ข้ามผ่านกระบวนการรักษาใจ
  • หากคนใกล้ตัวกำลังโศกเศร้า การรับฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน พร้อมชี้แนะแนวทางเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
  • แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกำลังใจกับคนที่เคยเจอเรื่องราวคล้ายคลึงกันเพื่อเห็นมุมมองที่ต่างออกไป

แหล่งที่มาของข้อมูล

• เว็บไซต์ Psychcentral
https://psychcentral.com/lib/the-5-stages-of-loss-and-grief#acceptance
• Mayo Clnic
https://1th.co/go3CX3CX3CX
• เว็บไซต์พบแพทย์
https://www.pobpad.com/เมื่อคนที่รักจากไป-รับม

บทความสุขภาพที่สำคัญ