เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ใจสั่น หวิดจะวูบอยู่บ่อย ๆ ใครมีอาการเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ? อย่านิ่งนอนใจไป เพราะอาการที่บอกไป เป็นอาการของหนึ่งในโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ประมาทไม่ได้ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของคนไทย นั่นก็คือ โรคหัวใจ ที่หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า โรคนี้น่าจะเป็นในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคหัวใจ สามารถเป็นได้ในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากความเครียดจากการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ การเลือกกินอาหารไขมันสูง ไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งไลฟ์สไตล์เหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ฉะนั้นอย่าชะล่าใจไป แล้วศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ไว้จะดีกว่า เผื่อคนใกล้ตัวเป็นขึ้นมา จะได้รู้เท่าทัน และสามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
โรคหัวใจ คืออะไร ?
โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart Disease) คือโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้การทำงานของหัวใจผิดไปจากปกติโดยกลุ่มของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของหัวใจ และหลอดเลือด สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ดังนี้
1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease – CAD)
เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ที่ทำหน้าที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ซึ่งไขมันที่ไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจลดลง จนทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก (Angina) หรือหัวใจวาย (Heart Attack) ตามมาได้
2. หัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอ ซึ่งมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
3. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
มีอาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ โดยอาจเต้นช้าหรือเร็วเกินไป โดยมีสาเหตุมาจาก ความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเวียนหัว จนถึงขั้นหมดสติได้
4. โรคลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Disease)
เป็นโรคที่เกิดจากการที่ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว จนทำให้การไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ ไม่เป็นไปตามปกติ จนทำให้เกิดอาการ หายใจลำบาก และเหนื่อยง่าย
5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจตั้งแต่เกิด เช่น ผนังหัวใจมีรูรั่ว หลอดเลือดหัวใจพัฒนาไม่สมบูรณ์ ที่อาจต้องได้รับการผ่าตัดรักษาตั้งแต่วัยเด็ก
6. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy)
เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หายใจลำบาก และมีอาการบวมตาม เท้า ขา หน้าท้อง รวมถึงเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เวียนหัว เป็นลม และมักตื่นมาไอในตอนกลางคืน
7. โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณต่าง ๆ ของหัวใจ เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจทำให้มีไข้ อ่อนเพลีย หายใจหอบ หรืออาจมีผื่นหรือจุดแดงขึ้นตามตัว
ใครที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจบ้าง ?
เรามาดูกันว่าใครบ้างนะ ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เผื่อรู้ตัวแล้วจะได้หาทางป้องกันตัวเองไว้ก่อนตั้งแต่เนิน ๆ
1. ผู้สูงอายุ
2. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
3. ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน โดยสามารถคำนวณได้จากดัชนีมวลกาย (BMI) ด้วยการเอาน้ำหนักตัวหน่วนกิโลกรัม หารกับส่วนสูงหน่วยเมตรยกกำลังสอง ซึ่ง BMI ที่แนะนำควรอยู่ในช่วง 18.5 - 24.9 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงน้ำหนักที่ปกติและมีสุขภาพดี
4. ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยสามารถวัดได้จากเกณฑ์ดังนี้
· คอเลสเตอรอลรวมควรต่ำกว่า 200 mg/dL
· ไขมันดี (HDL) ควรสูงกว่า 40 mg/dL (ชาย) และ 50 mg/dL (หญิง)
· ไขมันเลว (LDL) ควรต่ำกว่า 100 mg/dL
· ไตรกลีเซอไรด์ ควรต่ำกว่า 150 mg/dL
5. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยสามารถวัดได้จากเกณฑ์ดังนี้
· ความดันโลหิตซิสโตลิก (ตัวเลขบน): ต่ำกว่า 120 มม. ปรอท
· ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (ตัวเลขล่าง): ต่ำกว่า 80 มม. ปรอท
6. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
7. ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
8. ผู้ที่มีความเครียดสะสม
9. ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
อาการโรคหัวใจระยะแรก เริ่มเป็นอย่างไร ?
10 อาการเตือน โรคหัวใจ ที่หากใครเช็กแล้ว มีอาการเข้าข่ายตรงกับด้านล่าง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยด่วน
1. เจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือเครียด
2. หายใจลำบาก หายใจติดขัด เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาออกแรง หรือขณะนอนราบ
3. ใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกหัวใจเต้นเร็วเกินไป หรือเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ จนอาจทำให้เวียนหัวหรือเป็นลมได้
4. เหงื่อออกมากผิดปกติ โดยที่อากาศร้อนไม่ได้ร้อน และไม่ได้ออกกำลังกายหรือใช้แรง
5. มีอาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ข้อเท้า เท้า ขา หรือหน้าท้อง ซึ่งเกิดจากการสะสมของเหลวในร่างกายที่มากเกินไป
6. อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมหนัก ๆ อาจเป็นสัญญาณของหัวใจที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
7. เวียนหัวหรือเป็นลม อาจเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ
8. ปวดหรืออึดอัดบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมีอาการตั้งแต่บริเวณ แขน คอ กราม ลามไปถึงหลัง และอาจเกิดร่วมกับอาการเจ็บหน้าอกด้วย
9. คลื่นไส้หรืออาเจียน ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก
10. หายใจหอบ รู้สึกหายใจไม่ทัน เวลาออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งเวลาทำกิจกรรมปกติทั่วไป
การตรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรตรวจอะไรบ้าง ?
การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งหากชะล่าใจ ไม่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ก็อาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันและติดตามความคืบหน้าของโรคหัวใจ แพทย์มักแนะนำให้ทำการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG หรือ ECG)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยประเมินการทำงานของหัวใจ และตรวจหาความผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวาย
2. การตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Stress Test)
มักใช้ในการประเมินความสามารถของหัวใจขณะออกแรง เช่น การเดินบนสายพาน ซึ่งจะช่วยตรวจหาความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
3. การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram)
ตรวจดูโครงสร้างและการทำงานของกล้ามเนื้อและลิ้นหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติในลิ้นหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจ
4. การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Ultrasound)
ตรวจเพื่อหาการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปยังสมอง ซึ่งเป็นสัญญาณที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง
5. การตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Panel)
ตรวจวัดคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือด
6. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar)
เนื่องจากเบาหวานเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจึงสำคัญในการควบคุมโรค
7. การตรวจวัดความดันโลหิต (Blood Pressure Monitoring)
ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ การตรวจความดันเป็นประจำจะช่วยป้องกันความเสี่ยง
วิธีป้องกันโรคหัวใจ
เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจได้โดยตรง การป้องกันโรคหัวใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ได้ดังนี้
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ - รสชาติไม่หวาน ไม่มัน และไม่เค็มจนเกินไป รวมถึงกินผักผลไม้ที่มีกากใยและมีปริมาณน้ำตาลต่ำให้มากขึ้น
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ - โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ลดไขมันเลว (LDL) และเพิ่มไขมันดี (HDL) ในหลอดเลือด
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน - เพราะการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
4. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. มีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
6. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
7. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และเลือกแพ็คเกจให้เหมาะสมตามแต่ช่วงวัยและความเสี่ยง
วิธีรักษาโรคหัวใจ
ส่วนการรักษาโรคหัวใจ จะขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของโรค โดยมีวิธีการรักษาอยู่หลายวิธีดังนี้
1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา
ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติการการใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียด
2. การรักษาโดยใช้ยา
เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดคอเลสเตอรอล ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านการเกิดลิ่มเลือด ยาขับปัสสาวะ ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
3. การรักษาด้วยหัตถการและผ่าตัด
· การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Angioplasty)
โดยใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน และอาจมีการใส่ขดลวด (Stent) เพื่อช่วยให้หลอดเลือดเปิด
· การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting – CABG)
โดยการใช้หลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกาย มาเชื่อมต่อหลอดเลือดหัวใจ เพื่อทำทางเบี่ยงเสริมเส้นเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
· การซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Heart Valve Repair or Replacement) สำหรับผู้ที่มีปัญหาลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
· การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
สำหรับผู้ที่มีปัญหาหัวใจเต้นช้าหรือผิดจังหวะ เครื่องกระตุ้นหัวใจจะช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ
· การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิด Defibrillator (ICD)
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ICD จะช่วยกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ในกรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง
· การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (Endovascular Aneurysm Repair – EVAR)
เป็นการผ่าตัดในผู้ที่หลอดเลือดโป่งพองจนใกล้ปริแตก หรือมีอาการเจ็บป่วยจากหลอดเลือดที่โป่งพอง เช่น แน่นหน้าอก ปวดท้อง ปวดหลัง
· การรักษาด้วยการปลูกถ่ายหัวใจ
สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น ๆ การปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาค ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะสามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้
ดังนั้นหากใครอยากห่างไกลจากโรคหัวใจ ก็ควรจะเริ่มหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจังนับตั้งแต่วันนี้ เพราะการดูแลหัวใจให้แข็งแรง ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีในระยะยาวได้อีกด้วยนอกจากนี้อย่าลืมไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วย หากใครที่กำลังมองหาประกันสุขภาพเพิ่มเติม สามารถเข้ามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/products/health-insurance-and-hospital-income/ihealthy-ultra
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
· HD Mall
· โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
· โรงพยาบาลนครธน
· โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
· โรงพยาบาลวิมุต
