ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
11 กุมภาพันธ์ 2567

รู้จักกับ PrEP กับ PEP เครื่องมือสำคัญในการป้องกัน HIV

ในปัจจุบันมีการยอมรับและเปิดเผยความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็มีหลายชนิด ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน และอื่น ๆ อีกหนึ่งโรคที่ขาดไม่ได้ คือโรคเอดส์ โรคเอดส์เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV ที่มีการรับเชื้อหลากหลาย กลุ่มที่มีการรับเชื้อสูงสุดมาจากกลุ่มเพศสัมพันธ์ของชายรักชายถึง 68% รองลงมาคือ คู่ผลเลือดต่าง 19% (ฝ่ายหนึ่งตรวจพบ HIV เป็นเลือดบวกและอีกฝ่ายตรวจไม่พบเชื้อเป็นเลือดลบ) กลุ่มคู่นอนชั่วคราวและนอกสมรส 7% กลุ่มใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 4% และกลุ่มซื้อขายบริการตามลำดับ (ข้อมูลจากกองควบคุมโรค) จากข้อมูลนี้ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับหนึ่งในวิธีการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ HIV นั่นก็คือ การทานยาต้านไวรัส PrEP และ PEP

HIV คืออะไร ต่างจาก AIDS อย่างไร

โรคเอดส์ (AIDS) และเชื้อ HIV (Human Immunodeficiency Virus) ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยเชื้อ HIV คือไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ส่วนโรคเอดส์เป็นอาการป่วยระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV  โดยเชื้อ HIV นั้นจะทำลายเซลล์ CD4 หรือ T-Cells ทำให้ประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงเรื่อย ๆ  ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย ร่างกายอ่อนแอ จึงมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง เป็นต้น

HIV ติดต่อและแพร่เชื้อได้อย่างไร

ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับยา PrEP และ PEP สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่า HIV (Human Immunodeficiency Virus) แพร่เชื้อได้อย่างไร เมื่อพูดถึงการติด HIV ทุกคนก็จะคิดว่าเป็นโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อ HIV เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการติดเชื้อไวรัส HIV นี้ สามารถติดต่อได้ผ่านทางสารคัดหลั่งของร่างกาย โดยสามารถติดต่อได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย เชื้อ HIV สามารถติดต่อผ่านสารหล่อลื่นตามธรรมชาติของทั้งชายและหญิง จากการสัมผัสระหว่างเยื่อบุของช่องคลอด อวัยวะเพศชาย ทวารหนัก หรือปาก
  • การใช้เข็มสักหรือเข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลที่ติดเชื้อ HIV สามารถติดต่อผ่านเลือด ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ใช้เสพสารเสพติด
  • การรับเลือดบริจาคที่มีเชื้อ HIV ปนเปื้อน
  • ติดจากแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตรหรือการให้นมบุตร

มารู้จักกับยาต้านไวรัส PrEP กับ PEP ประสิทธิภาพดีไหมและมีวิธีใช้ต่างกันอย่างไร

                  ในประเทศไทยก็มียาใช้สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ HIV โดยแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) และ PEP (Post-Exposure Prophylaxis) โดยสองชนิดนี้ก็มีวิธีการใช้แตกต่างกัน ดังนี้

ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ยังไม่มีเชื้อ HIV แต่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือจำง่าย ๆ ว่า เป็นยาป้องกันก่อนที่จะสัมผัสเชื้อ โดยยาสามารถหยุดเชื้อ HIV ไม่ให้แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ใช้กับกลุ่มบุคคลที่มีภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ เช่น, ผู้ที่มีประวัติการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน, ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และอาชีพเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ โดยวิธีการรับประทานยา PrEP มี 2 วิธีด้วยกัน

·       วิธีแรก Daily PrEP เหมาะกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในทุกวัน เช่น ผู้ที่มีคู่นอนที่ติดเชื้อ HIV หรืออาชีพเสี่ยงอย่างบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น ควรทานยา PrEP วันละ 1 เม็ด เวลาเดียวกัน ควบคู่กับการตรวจเลือดเพื่อเช็คประสิทธิภาพในทุก ๆ 3 เดือน โดยถ้าหากเราทานยาอย่างต่อเนื่องอย่างถูกต้องจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้เกือบ 100%

·       ส่วนอีกวิธีนั้นเป็นแบบ On Demand PrEP เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นครั้งคราว เช่น ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาหรือเข็มสักร่วมกับผู้อื่นหรือผู้ที่มีคู่นอนหลายคน เป็นต้น โดยควรทานยาก่อน 2-24 ชั่วโมง และหลังจากเหตุการณ์เสี่ยงควรทานยาต่อเนื่องวันละ 1 เม็ดเป็นเวลา 2 วัน

ยา PEP (Post Exposure Prophylaxis) ยาต้านไวรัส PEP เป็นยาต้าน HIV ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจเลือดเป็นลบหลังจากที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อ HIV มาไม่เกิน 72 ชั่วโมง (เลือดลบคือไม่ติดเชื้อ HIV ถ้าเกิดการติดเชื้อผลเลือดจะเป็นบวก) โดยโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อ ได้แก่ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้แต่การถูกเข็มหรือของมีคมบาดในสถานพยาบาล เป็นต้น ซึ่งยา PEP จะป้องกันไม่ให้เชื้อ HIV ไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายไม่ติดเชื้อ โดยต้องทานให้ครบ 28 วัน และควรทานให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง เนื่องจากเชื้อไวรัส HIV แบ่งตัวเร็วมากภายใน 24 – 36 ชั่วโมง จึงต้องรับยาให้เร็วที่สุด เมื่อได้รับยาเร็ว ประสิทธิภาพในการรักษาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 80%  ดังนั้นหลังจากทานยาครบแล้วเราควรตรวจคัดกรองอีกครั้งเพื่อตรวจเช็กว่าได้รับเชื้อหรือไม่

ผลข้างเคียงของการรับประทานยา PrEP และ PEP

ในปัจจุบันผู้ที่ได้รับผลเคียงที่มีอาการรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากการทานยา PrEP หรือ PEP นั้นพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะดีขึ้นและหายได้เอง ซึ่งได้แก่ อาการ ปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ถ่ายเหลว เป็นต้น แต่ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา PrEP เนื่องจากยา PrEP อาจส่งผลต่อไตและกระดูกได้

จะเห็นได้ว่า HIV ไม่ได้ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งบางครั้งเราอาจมีความเสี่ยงในการรับเชื้อโดยไม่รู้ตัว แต่อย่างไรก็ตามเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ในการติดเชื้อ ดังนั้นถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจในโรคและการป้องกันตัวเองที่ดีและปลอดภัย เช่น การสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง การตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ก็จะทำให้เราห่างไกลจาก HIV ได้ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลพญาไท

https://bit.ly/3rBl4no

·       MedlinePlus

https://bit.ly/3RLpv9N

·       กองควบคุมโรค

https://bit.ly/46zqYEe

·       ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

https://bit.ly/46A1eYj

·       CM Mediclinic

https://bit.ly/46aHMll

·       Intouch Medicare
https://bit.ly/47BmAFT

บทความสุขภาพที่สำคัญ