จากหน้าฝนเข้าสู่หน้าหนาว อากาศและอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง บวกกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ทำให้ทุก ๆ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น งานเลี้ยงบริษัทที่จัดในพื้นที่แออัดที่เต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังเฉลิมฉลองอย่างสนุกสนาน การนั่งรถไฟฟ้ายามเช้าในขบวนอันแสนอัดแน่น อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ ในปี 2566 จนถึงเดือนตุลาคมนี้ มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมถึง 341,917 ราย โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าในสิ้นปีนี้ยอดผู้ป่วยอาจพุ่งสูงถึงสี่แสนราย เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่ อาการ สาเหตุและวิธีป้องกันง่าย ๆ สำหรับชาวออฟฟิศกัน
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร มีกี่สายพันธุ์
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) โดยไข้หวัดใหญ่ถูกแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ
· สายพันธ์ A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) โดยสายพันธุ์ A ที่พบบ่อย คือ H1N1, H3N2
· สายพันธุ์ B ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B ถูกแบ่งออกเป็น 2 เชื้อสาย คือ Yamagata และ Victoria
· สายพันธ์ C สายพันธุ์ C นั้นตรวจพบได้ไม่บ่อยและทำให้มีอาการเล็กน้อย ไม่ก่อให้เกิดการระบาด
อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 วัน โดยจะมีอาการดังต่อไปนี้
· ไข้สูง
· หนาวสั่น
· ปวดเมื่อยตามร่างกาย
· ไอ
· ปวดศีรษะ
· เจ็บคอ
· คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
· รู้สึกเหนื่อยล้าหรือไม่มีแรง
· ปวดตา
· ท้องเสีย อาเจียน (พบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่)
ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายได้อย่างไร
- การติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เป็นการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสละอองฝอยของผู้ป่วยที่เกิดจากการไอ จาม และพูดคุยกับผู้ป่วยโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะสะสมอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก และเสมหะ ซึ่งการอยู่ในพื้นที่แออัดหรือพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น เช่น ออฟฟิศ โรงเรียน ตลาด ร้านอาหารและอื่น ๆ ก็มีความเสี่ยงในการติดโรคไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าเดิม
- การติดต่อจากการสัมผัส การสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู บันไดเลื่อน โทรศัพท์ แล้วเอามือไปจับใบหน้า จมูก ปาก หรือตา ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถมีชีวิตอยู่บนวัสดุพื้นผิวแข็งอย่างพลาสติก เสาบนรถไฟฟ้า และอื่น ๆ ได้นานถึงสามวัน และอยู่บนเสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า หมอน ได้นาน 8 ถึง 12 ชั่วโมง
ไข้หวัดธรรมดากับไข้หวัดใหญ่ต่างกันอย่างไร
หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร โดยไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดามีความแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดา มีดังนี้
· สาเหตุ - ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) เท่านั้น ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาเกิดจากไวรัสหลายชนิด เช่น ไรโนไวรัส (Rhino Virus), อาร์เอสวี (RSV), อะดีโนไวรัส (Adenovirus) เป็นต้น
· ความรุนแรง – ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาและมีภาวะแทรกซ้อนอย่างเช่น หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบและอื่น ๆ
· การป้องกัน - การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดธรรมดาได้
วิธีการรักษา
ไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่หนักมากสามารถรักษาตามอาการได้ที่บ้าน เช่น เมื่อไข้สูงและมีอาการปวดหัวสามารถเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลหรือไอบูโปรเฟน, การพักผ่อนให้เพียงพอ, ดื่มน้ำอุ่นให้มากและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, หลีกเลี่ยงการเข้าชุมชนและพื้นที่แออัด, ล้างมือบ่อย ๆ และควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อบุคคลภายในบ้าน แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง อย่างมีไข้สูงต่อเนื่องในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง (หลังจากทานยาแล้ว) ปวดเมื่อยตามร่างกายและไอ ควรเข้ารับการดูแลรักษาจากแพทย์
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ต้องฉีดทุกปี
ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเป็นวิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด ซึ่งวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ประกอบไปด้วย สายพันธุ์ A (H1N1,H3N2) และสายพันธุ์ B Yamagata และ Victoria โดยจำเป็นต้องรับวัคซีนปีละ 1 ครั้งและรับการกระตุ้นในทุก ๆ ปี เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
ไข้หวัดใหญ่ยังคงเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่น่ากลัวไม่แพ้โควิด เนื่องจากมีการระบาดในทุก ๆ ปี ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ การส่งต่อความรู้เกี่ยวกับอาการ วิธีป้องกันตนเองและการฉีดวัคซีนให้กับคนใกล้ตัว ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยให้กับคนที่คุณรักและยังห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
แหล่งที่มาของข้อมูล
· กระทรวงสาธารณสุข
· องค์การอนามัยโลก
· Clevelandclinic
· โรงพยาบาลศิริราช
· โรงพยาบาลนครธน
· Insider.com
