ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากกว่า 1.8 ล้านคนทั่วโลกและปี 2565 ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดไม่น้อยกว่า 40 คนต่อวัน ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของคนไทยรองจากมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยมีผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงถึง 31,920 รายหรือคิดเป็น 22.8 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด 140,000 รายต่อปี ดังนั้นมะเร็งปอดจึงเป็นโรคที่เราไม่ควรมองข้าม วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับมะเร็งปอดกัน
มะเร็งปอดเกิดจากอะไร
มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติที่เนื้อปอด โดยเซลล์จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเซลล์เหล่านั้นก็จะเกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) พัฒนาเป็นก้อนเนื้อร้ายจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้ายจะไปขัดขวางการทำงานของปอด มะเร็งปอดจึงมักไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น แต่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามเป็นบริเวณกว้างแล้ว เป็นภัยเงียบที่เราไม่ควรมองข้าม เราจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด สามารถจำแนกเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้และปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้
· การสูบบุหรี่และการรับควันบุหรี่มือสอง
บุหรี่มีสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง ส่งผลทั้งผู้ที่สูบและผู้ที่สูดดมควันบุหรี่ ซึ่งสารพิษเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้ของสารเคมีในบุหรี่อาทิ ยาสูบ สารแต่งกลิ่นและรส โดยสารเหล่านี้จะอยู่กับควันบุหรี่และอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมง ตัวอย่างสารพิษและผลข้างเคียงในบุหรี่มีดังนี้
o เบนซีน (Benzene) ที่เป็นสารก่อมะเร็ง มักเกี่ยวข้องกับการสูดดมสารระเหยในโรงงานเคมี บ่อน้ำมันหรือควันจากยานพาหนะ เมื่อได้รับมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง สับสนและหากได้รับปริมาณที่มากสามารถทำให้หมดสติหรือเกิดชักเกร็งตามแขนขาได้
o พอโลเนียม-210 (Polonium-210) สารกัมมันตภาพรังสีที่สามารถพบได้ในถ่านหินยูเรเนียม (uranium mining) หรือใบยาสูบจากดินและปุ๋ยที่ปนเปื้อน โดยสารกัมมันตภาพรังสีที่หายใจเข้าไปจะปล่อยอนุภาคแอลฟา ส่งผลทำให้เกิดการทำลายระดับ DNA ของเซลล์ในเนื้อปอดและนำไปสู่การเกิดการกลายพันธุ์จนเป็นเนื้อร้าย
o แคดเมียม (Cadmium) หนึ่งในสารประเภทโลหะหนักที่มักพบในโรงงานผลิตแบตเตอรี่หรือโรงงานผลิตเหล็ก มีงานวิจัยรับรองว่าสารแคดเมียมจะเข้าไปทำลายสารพันธุกรรม นำไปสู่การแบ่งตัวเซลล์ที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดมะเร็งได้ในที่สุด
o สารตะกั่ว (Lead) เป็นโลหะหนักอีกชนิดหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ หากสูดดมเป็นระยะเวลานาน มักพบในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ก่อสร้าง เหมืองแร่และการทาสี โดยสารตะกั่วมักจะเข้าร่างกายโดยการสูดดมของฝุ่นสารตะกั่ว
o นอกเหนือจากการที่สารตะกั่วจะไปทำลายสารพันธุกรรมเหมือนสารอื่น ๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว สารตะกั่วสามารถไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในภาวะปกติได้อีกด้วย การได้รับสารตะกั่วร่วมกับสารอื่น ๆ อาทิ แคดเมียม จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งปอดมากขึ้น
o แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารประกอบที่อยู่ในอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเช่น น้ำยาฉีดกระจก จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจส่วนต้นอาทิ จมูก ลำคอ สามารถทำให้มีอาการเหนื่อย ไอ หายใจเร็วได้ หากได้รับในปริมาณที่มาก จะทำให้เกิดภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ปอดบวม (Pulmonary edema) ได้ซึ่งการที่ปอดเกิดภาวะอักเสบเป็นระยะเวลานานนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งเนื่องจากภาวะอักเสบเรื้อรังจะสามารถเปลี่ยนแปลงการแบ่งตัวของเซลล์ปกติของเซลล์ปอดได้ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งตามมา
o น้ำมันดิน (Tar) สารก่อมะเร็งที่มีลักษณะเป็นละอองเหนียว เมื่อได้รับสารนี้จึงเกิดการจับตัวและตกค้างอยู่ที่ปอด
· การได้รับสารพิษในมลภาวะสิ่งแวดล้อมหรืออาหาร เช่น ฝุ่น PM2.5 ควันจากรถยนต์ ควันจากการเผาไหม้ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม แร่ใยหินที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ไดร์เป่าผม กาน้ำร้อน เครื่องปิ้งขนมปัง เตารีด เป็นต้น
ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
· อายุที่มากขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่หากสูบบุหรี่ก็จะมีความเสี่ยงก่อนอายุ 40 ปี ส่วนคนที่รับควันบุหรี่มือสองก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์
· คนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอด ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอดจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ครอบครัวไม่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอด 2–3 เท่า
จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณของฝุ่นสูง เช่น โรงงาน ถนนที่มีการจราจรติดขัด จะมีฝุ่นละอองปะปนอยู่ในอากาศปริมาณมาก เมื่อหายใจเข้าไปฝุ่นละอองเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ในปอด ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้กลุ่มที่ทำงานในพื้นที่ปิด ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ ล้วนมีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน
อาการของผู้ป่วยมะเร็งปอด
อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ อาการของระบบทางเดินหายใจและอาการของระบบอื่น ๆ โดยอาการของระบบทางเดินหายใจเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด มักเกิดขึ้นเมื่อเนื้อร้ายอย่างมะเร็งเริ่มโตขึ้นแล้วไปเบียดหลอดลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบ ไอเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งไอแห้งหรือไอมีเสมหะ และในบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาด้วย เมื่อมะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก เบื่ออาหาร ปวดกระดูก มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง มีอาการบวมตามคอ แขน ทรวงอกและใบหน้า
มะเร็งปอดรักษาได้อย่างไรบ้าง
การรักษามะเร็งปอดนั้นขึ้นอยู่กับประเภทและระยะของมะเร็ง โดยวิธีการรักษามะเร็งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
1. การผ่าตัด - การผ่าตัดเป็นหนึ่งในวิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจายหรือลุกลามไปส่วนอื่น ๆ ซึ่งการผ่าตัดปอดก็แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก คือ การผ่าตัดแบบเปิด (Thoracotomy) และการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Video Assisted Thoracic Surgery, VATS)
2. การฉายรังสี - เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงเพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เหมาะกับผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายไม่สามารถผ่าตัดได้ เพราะการฉายรังสีเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคที่สูง ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น โดยมีประเภทรังสีหลายชนิด คือ
1. การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic Body Radiation Therapy) ที่เหมาะกับเซลล์มะเร็งขนาดเล็ก เพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
2. การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy)
3. รังสีสามมิติ (3D-CRT) เป็นการฉายรังสีลักษณะสามมิติ เพื่อให้ครอบคลุมรูปร่างและขนาดของเซลล์มะเร็งให้ใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างแม่นยำ
4. รังสีโปรตอน (Proton) การรักษาด้วยรังสีโปรตอนจะมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ระหว่างที่เข้าไปในร่างกายจะปลดปล่อยรังสีเล็กน้อย แต่เมื่อถึงเป้าหมาย โปรตอนจะปล่อยรังสีออกมาแล้วทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีข้อดีคือลดผลข้างเคียงต่ออวัยวะอื่น ๆ
3. การรับประทานยาและรับวัคซีน – การรับประทานยาคู่ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เนื่องจากมะเร็งสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยการเลือกประเภทของยาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยยาถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
1. ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ยาเคมีบำบัดหรือคีโม ซึ่งยาเคมีบำบัดจะเข้าไปทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด แต่ก็มีผลเสียต่อเซลล์ปกติที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เส้นผม เยื่อบุผิวหรือเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้มีผลข้างเคียงอย่าง ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน ภูมิคุ้มกันตก และอ่อนเพลีย โดยในปัจจุบันมีการพัฒนาให้ยาเคมีบำบัดมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นและผลข้างเคียงน้อยกว่าเดิม
2. ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นยาที่หยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ จึงถือว่าเป็นยารักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง มีผลข้างเคียงน้อย มีราคาแพง
3. ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วย ให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมาก ผลข้างเคียงน้อยมาก นอกจากนั้นยังสามารถใช้รักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย
มะเร็งปอดเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในเหล่าโรคมะเร็งของประเทศไทย ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน เราสามารถป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น งดการออกไปข้างนอกในช่วงที่มีฝุ่นหนาแน่น หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมหน้ากากกรองฝุ่น หรือการเปิดหน้าต่างระบายอากาศ ใช้เครื่องฟอกอากาศ ตรวจสุขภาพปอดและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพียงเท่านี้ก็สามารถลดโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่มีความเสี่ยงหรือสนใจประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/products/health-insurance-and-hospital-income/ihealthy-ultra
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลศิริราช
· โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
· คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
· Pobpad
· American Cancer Society
· โรงพยาบาลเพชรเวช
· Centers for Disease Contral and Prevention
· Bangkok Hospital
· WHO
https://bit.ly/48i7Mf0
· สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3TvYmbE
· โรงพยาบาลพญาไท
