หากพูดถึงคำว่า ‘วัยทอง’ หลายคนมักจะนึกถึงภาวะนี้ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงก่อน แต่ที่จริงแล้ววัยทองก็เกิดในผู้ชายด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิตที่เกิดขึ้นกับทั้งเพศหญิงและเพศชาย มีทั้งสิ่งที่เหมือนและแตกต่างกัน ครั้งนี้เราจะมาแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับวัยทองสำหรับคุณผู้ชาย รวมไปถึงการรับมือเพื่อให้หนุ่มใหญ่วัยทองมีความสุข และคงคุณภาพชีวิตที่ดีแม้มีหลายสิ่งไม่เหมือนเดิม
เมื่อไรที่คนเราเข้าสู่วัยทอง
วัยทองไม่ได้ถูกกำหนดอายุแต่ถูกกำหนดด้วยฮอร์โมนเพศ ดังนั้นสำหรับผู้หญิงสัญญาณแห่งวัยทองคือ วัยที่หมดประจำเดือน ซึ่งรังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนผู้ชายวัยทองจะเกิดขึ้นเมื่ออัณฑะผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหรือแอนโดรเจนลดลง และส่งผลให้ร่างกายและอารมณ์เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยส่วนใหญ่จะเริ่มในช่วงที่เพศชายเริ่มเข้าสู่อายุ 40 ปี
วัยทองในผู้ชาย vs. วัยทองในผู้หญิง
หนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนคือ แม้ผู้ชายจะเข้าสู่วัยทองแล้ว ร่างกายจะยังสามารถผลิตสเปิร์มเพื่อสืบพันธุ์ได้ หากยังรักษาสุขภาพโดยรวมไว้ได้ดี สำหรับผู้หญิงนั้นเมื่อไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ไม่สามารถตกไข่ได้หรือพูดอีกแง่นึงคือไม่สามารถสืบพันธุ์ได้นั่นเอง อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องความชัดเจนของอาการวัยทอง ซึ่งผู้ชายจะมีความไม่ชัดเจนเท่าผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการวัดค่าฮอร์โมนเพศที่ผู้หญิงจะได้ผลแน่ชัดจากการตรวจเลือด มีความแม่นยำมากกว่า รวมไปถึงการวินิจฉัยของผู้หญิงจะทำได้ง่ายกว่า ด้วยภาวะของร่างกายที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น อาการร้อนวูบวาบ และในแง่ของการรักษา การรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนในเพศชายมักไม่ได้ผลดีเท่าผู้หญิง
ปัจจัยกระตุ้นวัยทองในผู้ชาย
นอกจากอายุที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่วัยทองในผู้ชาย ยังอีกหลายปัจจัยกระตุ้นให้ชายหนุ่มกลายเป็นผู้ชายวัยทอง เช่น กรรมพันธุ์ ความเครียด ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย โหมออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร สูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการป่วยเป็นโรคบางชนิดหรือมีภาวะต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวาย ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
10 อาการที่บ่งบอกว่าคุณผู้ชายกำลังเข้าสู่วัยทอง
1. มีความต้องการทางเพศลดลง และหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
2. กล้ามเนื้อแข็งแรงน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
3. กระดูกแข็งแรงน้อยลง มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
4. มีไขมันสะสมที่หน้าอกและท้องเพิ่มขึ้น เนื่องจากร่างกายเผาผลาญไขมันลดลง
5. มีอาการร้อนวูบวาบ
6. เส้นขนตามร่างกายร่วงมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผมบาง หัวล้าน
7. คุณภาพในการนอนหลับลดลง
8. เกิดความเครียด มีอาการซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
9. ไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ความมั่นใจในตัวเองน้อยลง
10. สมาธิสั้น มีปัญหาเรื่องความจำ
การรับมือวัยทองสำหรับผู้ชาย
อย่างแรกคือการเปิดใจยอมรับ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้ชายวัยทอง อีกสิ่งที่สำคัญก็คืออาหาร เพราะอาหารเป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลร่างกาย ควรเน้นอาหารที่มีประโยชน์และช่วยบำรุงฮอร์โมน เช่น ไข่แดง ถั่ว ปลาแซลมอน ผักใบเขียว เป็นต้น พยายามเลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันสูง รวมไปถึงเครื่องดื่มก็ต้องให้ความสำคัญ เน้นให้มีประโยชน์เช่นกัน และควรลดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อปรับเปลี่ยนอาหารการกิน ก็ต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที อีกส่วนสำคัญคือ การดูแลทางด้านอารมณ์และจิตใจด้วยการคิดในเชิงบวก พยายามหากิจกรรมที่ชอบทำอยู่เสมอ และใช้เวลากับครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง เพื่อลดทอนภาวะเครียดหรือซึมเศร้าเมื่อเวลาที่ต้องอยู่คนเดียว
สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต สามารถดูรายละเอียดการบริการด้านสุขภาพ (KTAXA Health) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลสมิติเวช
https://bit.ly/3O7PUdn
· เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3mY7Mvn
