ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
26 กรกฎาคม 2567

NCDs คืออะไร | กลุ่มโรคไม่ติดต่อใกล้ตัวที่เกิดได้จากพฤติกรรมของคุณเอง​

                  โรคไม่ติดต่อ (Non- Communicable Diseases หรือ NCDs) เป็นกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยโรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตอันแสนสะดวกสบายในปัจจุบัน ทำให้มีความเสี่ยงต่าง ๆ โดยวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับกลุ่มโรค NCDs ว่ามีอะไร เกิดจากพฤติกรรมอะไรได้บ้าง และสามารถป้องกันได้อย่างไร

โรคกลุ่ม NCDs คือ

โรคไม่ติดต่อหรือ NCDs (Non- Communicable Diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากเชื้อโรค โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องอย่างพฤติกรรมการกิน การพักผ่อน ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น แต่ก็มีบางสาเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างพันธุกรรม ที่ถึงแม้จะร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกาย แต่ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกลุ่ม NCDs ได้เช่นกัน

ซึ่งโรคกลุ่ม NCDs จะก่อโรคในร่างกายอย่างช้า ๆ สะสมอยู่ในร่างกาย แต่จะไม่แสดงอาการออกมา และถ้าหากไม่ตรวจสุขภาพเป็นประจำก็ไม่สามารถรู้ได้เลย กลุ่มโรค NCDs จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อาจทำร้ายเรา หากไม่มีความรู้ในการป้องกันและการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

โรคกลุ่ม NCDs มีอะไรบ้าง​

โรคเบาหวาน – โรคที่มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดจากฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาล ไม่สามารถนำน้ำตาลไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือดและเกิดเป็นโรคเบาหวาน

โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง – สาเหตุเกิดจากไขมันเกาะตามหลอดเลือด เมื่อถูกสะสมเป็นเวลานานจะทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถหล่อเลี้ยงหัวใจและสมองได้อย่างเพียงพอ

โรคถุงลมโป่งพอง -  มีสาเหตุหลัก ๆ จากการสูบบุหรี่ ทำให้ถุงลมขนาดเล็กในปอดเกิดการอักเสบ ส่งผลให้เกิดโรคในระบบหายใจต่าง ๆ

โรคมะเร็ง - เกิดจากเซลล์ของร่างกายที่เพิ่มอย่างรวดเร็วอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดก้อนมะเร็ง พบได้ที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งปอดหรือมะเร็งลำไส้

โรคความดันโลหิตสูง – เป็นภาวะที่ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ โดยจะมีค่าความดันตัวบนมากกว่า 140 (มม,ปรอท) ค่าความดันตัวล่างมากกว่า 90 (มม,ปรอท) โดยค่าความดันโลหิตปกติจะมีค่าตัวบนอยู่ที่ 90 - 120 (มม,ปรอท) ค่าตัวล่าง 60 - 90 (มม,ปรอท) เมื่อความดันสูงกว่าปกติจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา อย่างเช่น โรคหัวใจ เป็นต้น

โรคอ้วนลงพุง – มีสาเหตุจากการบริโภคของหวาน ของทอด ไขมันสูง ทำให้ไขมันที่ได้รับ สะสมตามช่องท้องและตามร่างกายเป็นเหตุให้มีรอบเอวขนาดใหญ่เกิน 90 เซนติเมตรในผู้ชายและ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง

สาเหตุของการเกิดโรคกลุ่ม NCDs​

พฤติกรรมของเราหลาย ๆ อย่างในปัจจุบัน ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคกลุ่ม NCDs ได้ เช่น

·       การเลือกรับประทานอาหาร ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน เค็ม เผ็ด ก็ส่งผลทำให้เกิดโรคต่าง ๆ อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวานได้ เช่นเดียวกันกับการบริโภคอาหารปิ้งย่างที่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง รวมถึงเมนูของทอดที่เต็มไปด้วย LDL (Low Density Lipoprotein) หรือไขมันไม่ดี ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด หากรับประทานอาหารเหล่านี้มากขึ้น ก็จะสะสมขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ อีกทั้งน้ำจิ้มรสเด็ด เครื่องปรุงต่าง ๆ เสี่ยงที่จะได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย มีผลต่อการเกิดโรคไต หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งความเสี่ยงทั้งหมดนี้มักอยู่ในอาหารแสนอร่อยที่เรามักเลือกทาน อย่างเช่น หมูกระทะ ฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) คอหมูย่าง ที่ค่อย ๆ สะสมภายในร่างกายจนก่อให้เกิดโรคร้ายในที่สุด

 

·       การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสังสรรค์เป็นประจำ เมื่อบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะเกินไป ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง มะเร็ง ถุงลมโป่งพอง โรคทางเดินหายใจ และอื่น ๆ ได้

 

·       การพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลเสียต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลง การพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ความดันในเลือดและระดับน้ำตาลอินซูลินสูงขึ้น เสี่ยงต่อโรคหัวใจและเบาหวาน และยังส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้จากการพักผ่อนไม่เพียงพออีกด้วย

ความรุนแรงของโรคกลุ่ม NCDs​

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในปี 2565 โรคกลุ่ม NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยในอัตรา 76 เปอร์เซนต์หรือเกือบสี่แสนคนต่อปี โดย 5 สาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนไทยคือ โรคหลอดเลือด หัวใจ ความดัน มะเร็งและอ้วนลงพุง และอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ฉะนั้นการรักษาสุขภาพและเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยลดความรุนแรงและความเจ็บป่วยได้

วิธีการป้องกันการเกิดโรคกลุ่ม NCDs​

·       รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินผักและผลไม้

·       หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รสหวาน รสเค็มและรสเผ็ด

·       หลีกเลี่ยงของทอด เมนูปิ้งย่างและฟาสต์ฟู้ด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที

·       งดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

·       นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง

                  นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นแล้วการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อประเมินโรคที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs รวมถึงภาวะแทรกซ้อน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยในอนาคตได้  สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลสินแพทย์
https://bit.ly/3UCJdWW

·       โรงพยาบาลศิครินทร์
https://bit.ly/3UwX6FW

·       สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ
https://bit.ly/49mKh5g
https://bit.ly/4bXMxlt

·       กระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/43fntCN

บทความสุขภาพที่สำคัญ