ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
02 ธันวาคม 2565

เครียดหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง PTSD หากเป็นต้องรีบรักษา

คงไม่มีใครอยากให้คนใกล้ชิดต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจร้ายแรงจนกลายเป็นบาดแผลในใจ หรือรุนแรงถึงขั้นส่งผลให้ต้องเผชิญกับอาการ PTSD ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะจบไปแล้ว โดยจะเกิดบ่อยครั้งในช่วงเดือนแรกและอาการอาจจะเกิดต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหรือบางคนอาจติดต่อกันเป็นปี ดังนั้นการทำความเข้าใจกับโรคนี้และรู้วิธีดูแลอย่างถูกต้องคือสิ่งสำคัญที่คนใกล้ชิดผู้ป่วยต้องศึกษา วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกัน

 

PTSD คืออะไร

              PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ สภาวะผิดปกติที่เกิดจากความเครียดหลังเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งเกิดได้ทั้งจากการเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงหรืออยู่ร่วมในเหตุการณ์รุนแรงนั้น เช่น อุบัติเหตุร้ายแรง เหตุการณ์เฉียดตาย เหตุการณ์ที่ทำให้กลัวสุดขีด การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และการถูกทารุณกรรม เป็นต้น

                 

อาการของ PTSD

อาการ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แบ่งออกเป็น อาการทางกายและอาการใจ

·       อาการทางกาย

o   ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด

o   คลื่นไส้ ท้องเสีย

o   ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่

o   ตัวสั่น กล้ามเนื้อเกร็ง

o   เด็ก ๆ อาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน และมีปัญหาด้านพัฒนาการ

·       อาการทางใจ

o   อาจเกิดภาพหลอนหรือฝันร้ายซ้ำ ๆ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

o   เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น วันครบรอบ ผ่านสถานที่เดิม จะเกิดความรู้สึกทุกข์ใจอย่างมาก

o   มีอารมณ์ด้านลบอยู่บ่อย ๆ เช่น รู้สึกผิด กระวนกระวาย ตำหนิตัวเอง รู้สึกอาย สิ้นหวัง

o   ปลีกวิเวกจากผู้คนและกิจกรรมที่เคยทำ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้น

o   รู้สึกไวต่อสิ่งกระตุ้น นอนหลับยาก กระวนกระวาย ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์รุนแรง

 

แม้อาการ PTSD ในเด็กและผู้ใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่วิธีการแสดงออกของเด็กจะแตกต่างออกไป เพราะเด็กยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตัวเองได้ดี และยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาและคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด โดยถ้าหากผู้ป่วยไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็กมีอาการเหล่านี้มากกว่า 1 เดือนหรืออาการมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบการใช้ชีวิตควรไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม รวมถึงป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอีกด้วย

 

สาเหตุของการเกิด PTSD

              ยังไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างแน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไร แต่ปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดขึ้นคือเหตุการณ์ที่รุนแรงที่ไม่ได้สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น สอบตก หรือพลาดการแข่งขัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ได้แก่

·       เคยเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง เช่น รถชน เครื่องบินตก

·       เคยถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง

·       เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือมีการพยายามล่วงละเมิดทางเพศ

·       เคยถูกลักพาตัว ถูกจับเป็นตัวประกัน ถูกโจรกรรม

·       บุคคลใกล้ชิด หรือเคยพบเห็นคนบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต

·       เคยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น

•       ปัญหาสุขภาพที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล

•       การทำงานของสมองที่ควบคุมสารเคมีและฮอร์โมนในร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียด

 

การวินิจฉัยอาการ PTSD

              จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการทางร่างกายและจิตวิทยาโดยใช้หลักเกณฑ์จากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) ผู้ป่วยจะต้องเคยประสบเหตุการณ์รุนแรงมาก่อนและมีอาการผิดปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป และอาการผิดปกติเหล่านั้นรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์

 

การรักษา

•       การบำบัดทางจิตใจ

o   ช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และเข้าใจกลไกของความรู้สึกตามธรรมชาติว่าความกลัวและความกังวลนั้นเป็นปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่สามารถอยู่กับมันได้

o   ช่วยให้ผู้ป่วยค่อย ๆ รับมือกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย

o   ค่อยๆ ให้ผู้ป่วยได้ฝึกเผชิญหน้ากับความกลัวอย่างช้า ๆ โดยที่มีผู้ดูแลช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจไปทีละขั้น

o   ใช้กิจกรรมทางศิลปะ เช่น ดนตรีและการวาดรูปเป็นสื่อในการเล่าเรื่องและแสดงความรู้สึกของผู้ป่วย โดยผู้ดูแลต้องไม่กระตุ้นให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องซ้ำ ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกปลอดภัยและเล่าเรื่องออกมาเอง

•       การรักษาด้วยยา

จิตแพทย์จะให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้าร่วมด้วย โดยต้องรับประทานยาควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัด

 

แม้จะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ แต่ความรักและความเข้าใจ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ป่วยคือการรักษาเยียวยาที่ดีที่สุด เพราะตราบใดที่เราจับมือกันเรื่องร้าย ๆ จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีแน่นอน สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-services/mind-health

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       Mayo Clinic
https://mayocl.in/3cItyRR

·       งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3z57w3f
https://bit.ly/3zzIgnk

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3vglVs5

·       โรงพยาบาลพญาไท
https://bit.ly/3vinZ34

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ