ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
02 ธันวาคม 2565

เช็ก! 7 อาการไซนัสอักเสบโรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศ

ในช่วงที่ COVID19 กลับมาระบาด ทุกครั้งที่ไม่สบาย เหล่าชาวออฟฟิศคงอดสงสัยไม่ได้ว่า อาการป่วยที่เป็นอยู่คือ COVID19 หรือไม่ ด้วยโรคนี้มีอาการใกล้เคียงกับหลายโรคในกลุ่มโรคหู คอ จมูก และไซนัสอักเสบเป็นหนึ่งในโรคที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อคลายความสงสัยและลดความกังวลให้กับทุกคนเราจึงนำความรู้เกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบมาฝากกันในครั้งนี้ 

 

รู้จักโรคไซนัสอักเสบ    

ก่อนรู้จักกับโรคไซนัสอักเสบ เราต้องเข้าใจถึงบริเวณที่ก่อให้เกิดโรค นั่นคือไซนัสหรือโพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบ ๆ หรือใกล้เคียงกับจมูก โดยประกอบด้วย 4 บริเวณด้วยกัน คือ 1. โพรงภายในโหนกแก้ม 2. โพรงบริเวณโคนจมูกและหัวตาแต่ละข้าง 3. โพรงภายในหน้าผาก และ 4. โพรงใต้ฐานกะโหลกศีรษะ ซึ่งโพรงในบริเวณต่าง ๆ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีหน้าที่อะไร แต่เชื่อว่ามีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของศีรษะ ปรับความดันให้โพรงจมูก และสร้างสารคัดหลั่งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ 

โดยโรคไซนัสอักเสบคือการอักเสบของเนื้อเยื่อบุโพรงอากาศที่เกิดขึ้นใน 4 บริเวณที่กล่าวไปข้างต้น สามารถแบ่งออกเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ผู้ป่วยจะมีอาการไม่เกิน 4  สัปดาห์ ซึ่งเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย โรคไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลันที่อาการจะกินเวลาตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์ และโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่การอักเสบเกิดขึ้นตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป  

 

สาเหตุและปัจจัยกระตุ้นการเกิดไซนัสอักเสบ 

สำหรับสาเหตุหลักของโรคคือการติดเชื้อในบริเวณต่าง ๆ เช่น ทางเดินหายใจส่วนบน ฟันกรามแถวบน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่โพรงจมูก เกิดการบาดเจ็บบริเวณกระดูกบนใบหน้าจากอุบัติเหตุ อยู่ภายใต้สภาวะที่ความดันอากาศภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นโรคภูมิแพ้ โรคริดสีดวงจมูก ผนังจมูกคด เป็นต้น 

ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดไซนัสอักเสบ มีทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การหายใจเอาอากาศที่มีฝุ่นละอองหรือควันเข้าสู่ร่างกาย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทาน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเทและระบายสารคัดหลั่งของไซนัส 

 

เช็ก! อาการไซนัสอักเสบ 

3 อาการหลักที่บ่งบอกว่าเราอาจป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบ คือ 1. การคัดหรือแน่นจมูก 2. มีน้ำมูกไหลในบริเวณรูจมูกด้านหน้า มีน้ำมูกไหลลงคอ หรือมีเสมหะข้น และ 3. มีอาการปวดหรือแน่นอย่างน้อย 1 ตำแหน่งจากทั้ง 4 ตำแหน่งของไซนัสที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ยังมีสิ่งสังเกตเพิ่มเติม เช่น ลมหายใจมีกลิ่นแรง ปวดศีรษะ ขมับ แก้ม หรือท้ายทอย ในกรณีที่ป่วยรุนแรงจะส่งผลให้เกิดไข้สูงและดวงตาบวมจนสังเกตเห็นได้ 

 

การรักษาและการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้  

โรคชนิดนี้มีแนวในการรักษาทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด โดยยาที่ใช้จะเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยาตามความรุนแรงของอาการ ในกรณีของโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะพ่นจมูกหรือการผสมกับน้ำเกลือเพื่อล้างทำความสะอาดจมูก ในส่วนของการผ่าตัดจะดำเนินการในผู้ป่วยรายที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้หรือป่วยซ้ำบ่อย ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ปลอดภัยและให้ผลดี  

แต่ถึงแม้จะมีการรักษาที่ทันสมัยเพียงใด สิ่งที่ดีที่สุดคือดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ ซึ่งทำได้ง่ายๆ ด้วยการดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดีอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง ลดเครื่องดื่มคาเฟอีน เน้นดื่มน้ำเปล่า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงภาวะที่จะก่อให้เกิดโรคหวัด โรคภูมิแพ้ ที่จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคไซนัสอักเสบ  

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่มีอาการแล้วต้องการคำแนะนำจากแพทย์ สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้กับบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth 

 

แหล่งที่มาของข้อมูล 

บทความสุขภาพที่สำคัญ