ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
25 กุมภาพันธ์ 2567

“โรคมะเร็งผิวหนัง” มะเร็งที่เกิดขึ้นได้เพียงแค่...โดนแดด

เพราะประเทศไทยและแสงแดดเป็นของคู่กัน ชีวิตมนุษย์ออฟฟิศอย่างเรา ๆ คงต้องมีโดนแดดบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทำงานในตอนเช้า หรือว่าออกไปพักทานอาหารในตอนเที่ยง แต่รู้หรือไม่ว่าแสงแดดนั้นเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนัง วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจกับโรคมะเร็งผิวหนังกัน เพื่อให้คุณสามารถปกป้องผิวของคุณให้ปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้

 

มะเร็งผิวหนังคืออะไร

                  มะเร็งผิวหนังเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังที่แบ่งตัวผิดปกติ มักเกิดจากการที่ผิวหนังของเราโดนทำลายด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)  มะเร็งผิวหนังสามารถเกิดได้ทุกส่วนของผิวหนังของเรา โดยเฉพาะบริเวณที่โดนแสงแดดหรือไม่มีเสื้อผ้าปกคลุมนั่นเอง เช่น ใบหน้า คอ แขน ขา มือ นอกจากนี้เรายังสามารถพบมะเร็งผิวหนังได้ที่ริมฝีปาก เยื่อปาก จมูก เยื่อบุลูกตา ตลอดจนเล็บได้อีกด้วย

มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด แต่ที่เราพบบ่อยจะมี 3 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma), มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma) และเซลล์มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma)

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

                  อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น สาเหตุหลัก ๆ ในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังคือ การรับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) แสงแดดมากเกินไป เพราะรังสี UV สามารถทำลาย DNA ของเซลล์ผิวหนังได้ และเมื่อ DNA ถูกทำลายเซลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์ผิวหนังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเนื้องอกเนื้อร้ายและเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อเกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง

·       คนผิวขาว: คนที่มีสีผิวขาว ผมสีอ่อน และดวงตาสีอ่อน เช่น ฝรั่ง จะไวต่อความเสียหายจากรังสียูวีและมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนผิวสีอื่น เนื่องจากมีเม็ดสี (เมลานิน) ที่ทำหน้าที่ช่วยปกป้องรังสี UV จากแสงแดดน้อยกว่าคนผิวเหลืองและผิวเข้ม

·       แสงแดด (UV Exposure): ไม่ว่าจะเป็นการโดนแดดที่แรงจัดเป็นครั้งคราว หรือการโดนแดดสะสม และถ้าหากมีประวัติเป็น Sunburn ผิวไหม้พุพองหรือเป็นตุ่มน้ำก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่แนะนำให้อาบแดด

·       มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ

·       มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง: เนื่องจากโรคมะเร็งผิวหนังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

·       โรคทางพันธุกรรมบางโรค ที่ไม่สามารถจัดการกับ DNA ของเซลล์ที่ถูกทำลายโดยแสงแดด

·       คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน: คนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่า เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ ความสามารถในการต่อสู้และจัดการกับเซลล์มะเร็งจึงน้อยกว่าคนทั่วไป

·       ได้รับรังสีที่เป็นอันตรายติดต่อกันนาน ๆ เช่น รังสีรักษา (การใช้รังสีในการรักษาโรค)

·       มีประวัติการถูกสารเคมี เช่น สารหนู ยาฆ่าแมลง ยางมะตอยราดถนน Polycyclic Aromatic Hydrocarbon หรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ

·       การสูบบุหรี่

·       การติดเชื้อไวรัส HPV  (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหูด มีรายงานว่าหากติดเชื้อนี้เรื้อรัง รอยโรคสามารถกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้

·       การมีแผลเรื้อรัง

 

อาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งผิวหนัง

·       มีไฝที่ผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือไฝเดิมมีการเปลี่ยนแปลงขนาด รูปร่าง สี มีเลือดออกหรือแตกเป็นแผล

·       มีตุ่มรูปร่างผิดปกติตามผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณที่โดนแดด เช่น ใบหน้า หู ลำคอ รวมถึงตุ่มนูนเกิดขึ้นใหม่ที่แม้เวลาจะผ่านไปหลายเดือนก็ไม่หาย

·       มีรอยลักษณะเหมือนแผลหรือแผลเป็นที่ไม่หายเองตามผิวหนัง

·       มีสะเก็ดแข็งบริเวณผิวหนัง มีรอยบุ๋มหรือมีเลือดออก

·       มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย

 

ลักษณะของมะเร็งชนิดต่าง ๆ  

1.        มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma) มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในคนไทย มักพบบริเวณใบหน้า คอและมือ ลักษณะที่พบได้บ่อยคือ มีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง หรือสีดำ ลักษณะผิวมัน ตรงกลางอาจแตกเป็นแผล และมักจะมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ ทำให้มีเลือดออกได้ บางครั้งก็มีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย มะเร็งชนิดนี้มักจะโตช้า

2.        มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma) เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่พบรองลงมาจากชนิดเบซัลเซลล์ ลักษณะมีได้ตั้งแต่เป็นผื่น เป็นปื้นสีแดง มีขุยหรือสะเก็ต บางรายเป็นแผลถลอกตรงเยื่อบุ (Mucosa) บางรายเป็นตุ่มหรือก้อนเนื้อที่โตขึ้นโดยเนื้อมีสีชมพู แดง หรือสีเนื้อ เมื่อสัมผัสบริเวณแผลจะรู้สึกเจ็บ เลือดออกได้ง่าย รวมถึงแผลจะค่อย ๆ ขยายขนาดไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด มะเร็งผิวหนังชนิดนี้โตเร็วกว่าชนิดเบซัลเซลล์และสามารถลุกลามไปอวัยวะอื่นได้

3.        เซลล์มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) เป็นมะเร็งของเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่ร้ายแรงที่สุด โดยสามารถกระจายสู่อวัยวะอื่นๆ จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ พบได้มากขึ้นในประชากรไทยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ในระยะเริ่มต้นอาจจะมีลักษณะคล้ายกับไฝหรือขี้แมลงวันที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นไฝ กระ ในบริเวณเดิมที่มีอยู่แล้วแต่เกิดการเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิม ขยายเร็วผิดปกติ ขอบเขตไม่เรียบ สีไม่สม่ำเสมอ หรือมีหลายสีผสมกัน โดยสามารถแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้

 

 

วิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

การป้องกันมะเร็งผิวหนังจะเน้นไปที่การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการโดนแดด โดยมีวิธีดังนี้

·       สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและสิ่งที่ป้องกันแสงแดดได้ เช่น ร่มกัน UV หมวก เสื้อแขนยาว ปลอกแขนกันแดด และแว่นกันแดด รวมถึงการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้านหรือก่อนที่จะโดนแดดอย่างน้อย 15 นาที และใช้กันแดดที่มีค่า SPF 30 PA+++ ขึ้นไป และหากต้องโดนแดดต่อเนื่อง ให้ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง

·       หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ปริมาณรังสียูวีมีความเข้มข้นและเป็นอันตรายต่อผิวมากที่สุด

·       หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือรับประทานอาหารที่เจือปนสารก่อมะเร็งอย่างยากำจัดศัตรูพืชที่มีสารออร์กาโนตกค้าง อาหารทะเล อาหารที่ถูกห่อด้วยกระดาษที่มีหมึกพิมพ์ เมนูทอดที่ใช้น้ำมันเดิมทอดซ้ำ ๆ กล่องโฟมบรรจุอาหาร และผลไม้ตระกูล Cirtus หรือตระกูลส้ม เป็นต้น

·       งดสูบบุหรี่

·       หมั่นตรวจร่างกายและสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เมื่อมีบริเวณไหนเปลี่ยนแปลง ผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

 

วิธีการตรวจมะเร็งผิวหนัง

·       การตรวจเบื้องต้นและสังเกตด้วยตนเอง ลองสังเกตความผิดปกติของผิวหนังว่ามีตุ่มเนื้อที่ดูผิดปกติหรือไม่ มีแผลเรื้อรังตามร่างกาย หรือบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดไหม รวมถึงสังเกตลักษณะของความผิดปกติว่ามีการขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วหรือไม่ หากมีความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กเพิ่มเติม

·       การตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของไฝ ฝ้า กระ หรือจุดผิวหนังอื่น ๆ ที่มีอยู่ และตรวจร่างกายผิวหนังทั้งตัว รวมถึงหนังศีรษะ ใบหู ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ระหว่างนิ้วเท้า รอบอวัยวะเพศ หากพบความผิดปกติ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่ต้องสงสัยไปตรวจ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนังหรือไม่

 

โรคมะเร็งผิวหนังรักษาได้อย่างไรบ้าง

การรักษามะเร็งผิวหนังขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง และระยะของมะเร็ง รวมถึงยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ สุขภาพ โรคประจำตัว เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีรักษามะเร็งที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น

1.        การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักที่ใช้มากที่สุดในทุกประเภทของมะเร็งผิวหนัง เพราะมีประสิทธิภาพสูงและสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแพทย์จะผ่าตัดก้อนมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบออก หลังจากนั้นจะเย็บปิดแผลหรือทำการปิดด้วยผิวหนังส่วนอื่นเพื่อให้ฟื้นฟูแผลได้เร็วขึ้น

2.        การผ่าตัดด้วยไมโครกราฟิก Mohs (Mohs Micrographic Surgery)
การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs เป็นการผ่าตัดเทคนิคพิเศษที่พยายามรักษาเนื้อดีให้ได้มากที่สุด โดยขณะผ่าตัดจะมีการส่งชิ้นเนื้อตรวจทันที แบบ Real time จนกว่าจะเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด ซึ่งต้องใช้แพทย์และทีมแพทย์เฉพาะทาง การรักษาประเภทนี้เหมาะกับมะเร็งที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายสูงและอยู่ในบริเวณจุดที่ละเอียดอ่อนอย่างรอบตา จมูก ปาก หน้าหู ใบหู หรือตำแหน่งที่มะเร็งมีการกลับเป็นซ้ำ

3.        การขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า
เหมาะกับผู้ป่วยที่มีมะเร็งผิวหนังชนิดเสี่ยงต่ำ ขนาดค่อนข้างเล็กและตื้น โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีขอบเป็นวงแหลมคว้านบริเวณเนื้อร้ายออกเพื่อขจัดเซลล์มะเร็ง จากนั้นจะนำกระแสไฟฟ้ามาจี้รักษาต่อ  

4.        การบำบัดด้วยรังสี (Radiation Therapy)
การรักษานี้จะใช้รังสีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็งขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถผ่าตัดออกให้หมดได้ รวมถึงการป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำ มักใช้กับผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยง

5.        เคมีบำบัดหรือการทำคีโม (Chemotherapy)
เป็นการรักษาโดยใช้ยาต้านมะเร็งชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดมาประกอบเป็นสูตรยาเคมีบำบัด การให้ยาเคมีบำบัดจะมีฤทธิ์ทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

6.        การบำบัดด้วยแสงโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy)
เป็นการรักษาด้วยวิธีฉายแสง โดยก่อนการฉายแสงแพทย์จะทายาบนรอยโรคมะเร็ง แล้วฉายแสงความเข้มข้นสูงลงไป เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาการทำลายเซลล์มะเร็ง มักใช้กับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ หรือสะความัสเซลล์ ที่มีปริมาณรอยโรคจำนวนมาก หรือหลายตำแหน่งบนร่างกาย

         มะเร็งผิวหนังเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวกว่าที่คิดและอาจร้ายแรงขึ้นได้ถ้าเราไม่ป้องกัน ดังนั้นเราจึงควรพยายามป้องกันผิวหนังจากรังสี UV รวมถึงทำความเข้าใจสาเหตุ ปัจจัยและวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราห่างไกลจากการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

ตรวจสอบความถูกต้องของบทความโดย
พญ.จันทณัชธน์ วิทวัสชัยกุล
แผนกเฉพาะทาง แพทย์เฉพาะทางผิวหนังตจวิทยา ตจศัลยศาสตร์ และมะเร็งผิวหนัง
โรงพยาบาลสุขุมวิท

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       World Health Organization      

https://bit.ly/44ugpB8

·       Skin Cancer Foundation
https://bit.ly/3QX7zsz

·       National Cancer Institute

https://bit.ly/3KXWOCi

·       Mayo Clinic

https://mayocl.in/3KZM1aC

·       Pobpad

https://bit.ly/45CVMDM
https://bit.ly/3OR6L5P

·       Bangkok Hospital Pattaya

https://bit.ly/45oKaoj

·       American Cancer Society.

https://bit.ly/3YQK9a5

·       University of UTAH

https://bit.ly/487RSnH

บทความสุขภาพที่สำคัญ