เศรษฐกิจที่ตกต่ำและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเกิดขึ้นกับประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นระยะๆ ซึ่งเศรษฐกิจนั้นส่งผลกับสุขภาพของประชาชน และต่อระบบบริการสุขภาพได้โดยตรง วันนี้เราจึงจะขอพาทุกคนมาดูผลกระทบสุขภาพจากเศรษฐกิจตกต่ำในอดีต พร้อมชวนทุกคนมาวางแผนค่ารักษาพยาบาลด้วย ‘ประกันสุขภาพ’ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคตกัน
โดยเริ่มแรกเราจะขอพาทุกคนย้อนไปที่ปี 2540 กันก่อน ซึ่งเป็นปีที่สภาวะเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤต และผ่านมาหลายปีแล้ว ทำให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอาจจะดีเท่าที่ควร
เศรษฐกิจส่งผลกับสุขภาพคนไทยปี 2540
● ผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ
เศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพที่ชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบด้านโภชนาการในกลุ่มคนจนและคนว่างงาน โดยเด็กนักเรียนประถมศึกษาที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 10.5 เป็นร้อยละ 12.2 และ 12.2 ตามลำดับ ส่วนเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัมเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 8.2 เป็น 8.5 และ 8.6 และหญิงมีครรภ์มีภาวะโลหิตจางเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.9 เป็นร้อยละ 13.0 และ 13.9 ตามลำดับ และอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเพิ่มขึ้น จากปัญหาโรคติดเชื้อเช่นไข้มาเลเรีย ท้องร่วงในเด็ก และไข้เลือดออก
● ผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพ
ช่วงวิกฤตครั้งนี้ประเทศไทยยังไม่บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีคนไทยประมาณร้อยละ 30 ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ประชาชนมีแนวโน้มหันไปใช้บริการรักษาพยาบาลที่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เช่น การซื้อยากินเองและการใช้บริการสถานพยาบาลภาครัฐมากขึ้น
● ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายและงบประมาณด้านสุขภาพ
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลร้อยละ 9.3 โดยค่าใช้จ่ายด้านยาลดลงร้อยละ 17.3 และค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐลดลงเร็วกว่าค่าใช้จ่ายสุขภาพภาคเอกชน งบประมาณกระทรวงสาธารณสุขมูลค่าจริงลดลงจาก 67,574 ล้านบาทใน พ.ศ. 2540 เป็น 61,097 ล้านบาทใน พ.ศ. 2544 คิดเป็นการลดลงถึงร้อยละ 9.6 ทั้งนี้ เป็นการปรับลดในงบประมาณการลงทุนเป็นหลัก
ต่อมาเราจะขอพาย้อนไปดูผลกระทบของเศรษฐกิจในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้านและมีความรุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ เริ่มต้นด้วยวิกฤตราคาน้ำมันสูงในช่วงครึ่งแรกของปีตามมาด้วยวิกฤตตลาดการเงินโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพอย่างไรบ้างไปดูกัน
เศรษฐกิจส่งผลกับสุขภาพคนไทยปี 2551
● ผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ
ในปีนี้มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีจำนวนน้อยลง โดยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ประมาณ 780,000 คน ขณะที่สัดส่วนเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม และสัดส่วนของเด็กแรกเกิดที่มีแม่วัยรุ่นอายุ 11-19 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงของปัญหาภาวะเด็กน้ำหนักตัวน้อยหรือแม่อายุน้อย และเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน ในขณะที่บางแห่งเป็นพื้นที่มีปัญหานี้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีใน พ.ศ. 2552 ไม่มีแนวโน้มลดลง ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่ยังเป็นเยาวชน ซึ่งมีปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและค่านิยมในการใช้ชีวิต แต่วิกฤตเศรษฐกิจไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณกองทุนเอดส์ระดับชาติ เนื่องจากไม่ได้ใช้งบประมาณสูงนัก และรายจ่ายด้านเอดส์ไม่สูงกว่า ร้อยละ 2 ของรายจ่ายสุขภาพทั้งหมด และโครงการยาต้านไวรัสเอดส์พบว่า ใน พ.ศ. 2552 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จาก พ.ศ. 2551 ถึงร้อยละ 54 เนื่องจากผู้ได้รับยาโดยเฉพาะยาสูตรที่สองมีจำนวนเพิ่มขึ้น
● ผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพ
การใช้บริการสุขภาพจากสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 3.2 ครั้งต่อคนต่อปีใน พ.ศ. 2548 เป็น 3.8 ครั้งต่อคนต่อปี โดยพบว่าประชาชนใช้สถานพยาบาลในภาครัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เพิ่มขึ้น ในขณะที่ใช้บริการผู้ป่วยนอกที่สถานพยาบาลภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย สำหรับการเข้ารับบริการสุขภาพแบบผู้ป่วยในในโรงพยาบาลมีอัตราลดลง โดยเป็นการลดลงของทุกประเภทโรงพยาบาล
● ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายและงบประมาณด้านสุขภาพ
ในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ครั้งนี้ ประเทศไทยได้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จึงเป็น safety net ต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยภาพรวมครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพิ่ม ขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.59 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 และ 12.33 ตามลำดับ
สรุปเศรษฐกิจส่งผลกับสุขภาพคนไทย
จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าในปี 2540 และ 2551 ปัญหาด้านสุขภาพที่พบได้เหมือนกันคือผลกระทบด้านโภชนาการในกลุ่มคนจนและคนว่างงาน เนื่องจากประชาชนไม่มีเงินเพียงพอในการซื้ออาหารมาบริโภค
และจะเห็นได้ว่าในปี 2540 ที่คนไทยยังไม่ได้รับประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองด้วยการซื้อยาในร้านขายยา ซึ่งอาจจะไม่ได้รับการรักษาที่ตรงจุดได้เท่ากับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ แต่พอปี 2551 คนไทยได้รับประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายก็ลดลง
ซึ่งจากการย้อนดูผลกระทบสุขภาพจากเศรษฐกิจตกต่ำในอดีตนั้น จะเห็นได้ว่าการวางแผนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันเราจะมีสวัสดิการประกันสังคมที่ครอบคลุมด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่ประกันสังคมก็ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน หากเราต้องการได้รับการรักษาที่ดีที่สุดในท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ การวางแผนค่ารักษาพยาบาลด้วย ‘ประกันสุขภาพ’ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคตก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย
วางแผนค่ารักษาพยาบาลด้วย ‘ประกันสุขภาพ’ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
เงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลเป็นอัตราที่สูงมากถึง 7 - 8% ต่อปี ทำให้ภายในระยะเวลาประมาณ 8 – 10 ปี ค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ต่างๆ อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า การทำประกันสุขภาพจึงช่วยลดความเสี่ยงปัญหาวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากประกันสังคมหรือประกันกลุ่มไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลที่ปรับสูงขึ้นอีกในอนาคตได้ ด้วยวิธีการวางแผน ดังนี้
● ศึกษาประกันสุขภาพและตรวจสอบประวัติสุขภาพของครอบครัว เริ่มต้นด้วยการสำรวจข้อเสนอและเงื่อนไขความคุ้มครองสุขภาพของบริษัทประกันต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ตรวจประวัติการเจ็บป่วยของตัวเองและญาติพี่น้องเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม จากนั้นมองหาประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโรคภัยไข้เจ็บที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้
● คำนวณทุนประกันสุขภาพ โดยตรวจสอบและประเมินจากค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เราใช้เป็นหลัก และพิจารณาทุนประกันให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ เช่น วงเงินคุ้มครองสูงสุดต่อปีและวงเงินค่าใช้จ่ายต่อโรคต่อ 1 ครั้ง, ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลสูงสุดต่อวัน, ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป, ค่าห้อง ICU กรณีฉุกเฉิน, ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น การผ่าตัด วิสัญญีแพทย์, ค่าธรรมเนียมแพทย์เฉพาะทาง และค่าใช้จ่ายของแพทย์ในการเยี่ยมไข้, ค่ารักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุ, ค่าชดเชยรายได้ในขณะที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ประกันสุขภาพจะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และได้โอกาสในการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น แต่การจะได้ประกันสุขภาพแบบคุ้มค่ามากที่สุด คือประกันสุขภาพที่เหมาะกับความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วยนั่นเอง