ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
15 มกราคม 2568

มารู้จักโรคจิตเวช Conduct Disorder โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวในเด็กและวัยรุ่น

จากสถานการณ์ปัจจุบันมีข่าวความรุนแรงที่เกิดจากวัยรุ่นให้เราได้ยินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การรังแก และการใช้กำลังกับผู้อื่น ทั้งทางกายหรือทางจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลและทรัพย์สิน พฤติกรรมเหล่านี้เป็นหนึ่งในอาการของโรคจิตเวช Conduct Disorder หรือโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวที่น่ากังวลต่อคนรอบข้างและสังคม เราจึงจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคนี้ พร้อมวิธีการป้องกันและรักษา ก่อนที่จะเป็นพฤติกรรมที่สายเกินแก้

โรคจิตเวช Conduct Disorder คืออะไร มีพฤติกรรมอะไรบ้าง

โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว (Conduct Disorder) เป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นได้กับเด็กไปจนถึงวัยรุ่น โดยโรคนี้จะมีลักษณะเด่นคือ มีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าวและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นบ่อยครั้งหรือเป็นประจำไม่ว่าจะเป็น

·       คุกคาม รังแก และใช้กำลังกับผู้อื่น รวมถึงการทรมานสัตว์ด้วย

·       พูดข่มขู่ ทำให้ผู้อื่นหวาดระแวงและหวาดกลัว

·       พฤติกรรมทางเพศที่ไม่สมกับวัย เช่น เล่นอวัยวะเพศในสถานที่สาธารณะ ลวนลามเพศตรงข้าม และอื่น ๆ

·       ทำผิดกฎระเบียบหรือผิดกฎหมาย เช่น หลบเรียน ดื่มแอลกอฮอล์ จี้ปล้น ลักขโมย ครอบครองหรือจำหน่ายสารเสพติด

ซึ่งบางพฤติกรรมก็สามารถพบได้ในเด็กทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว แต่ถ้าพบเห็นพฤติกรรมนี้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ หรือรุนแรงอย่างทำผิดกฎหมายบ่อย ๆ ทำให้บุคคลอื่นหวาดระแวง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาก่อนที่จะติดพฤติกรรมแบบนี้จนกลายเป็นนิสัย เพื่อป้องกันโรคจิตเวชแทรกซ้อนและเหตุการณ์ร้ายแรงที่สามารถเกิดขึ้นตามมาในภายภาคหน้า

สาเหตุของพฤติกรรม ก้าวร้าว เกเร และการใช้ความรุนแรง เกิดจากอะไรได้บ้าง

·       พฤติกรรมของครอบครัว เนื่องจากครอบครัวเป็นปัจจัยหลักที่จะคอยเลี้ยงดูและดูแลพฤติกรรมของเด็ก ถ้าเกิดครอบครัวของเด็กมีลักษณะที่ก้าวร้าว เกเรและรุนแรงกับคนในครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่พูดจาเสียงดังโดยใช้คำที่รุนแรง ใช้กำลังต่อกัน อาจจะส่งผลให้เด็กคิดว่าพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเห็นคนในครอบครัวก็ทำพฤติกรรมแบบนี้ทุกวัน จึงอาจนำพฤติกรรมก้าวร้าวไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นครอบครัวที่มีปัญหา เช่น ครอบครัวยากจน ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวติดการพนันและดื่มแอลกอฮอล์ ก็ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ทำให้ขาดการคิดวิเคราะห์ อาจเลียนแบบพฤติกรรมแบบผิด ๆ และส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้

·       การเลือกคบเพื่อนและการเข้าสังคม การเลือกคบเพื่อนก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เพราะเด็กจะทำตามเพื่อนหรือเลือกกลุ่มเพื่อนที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็อยากจะช่วยให้ถึงที่สุด จนทำให้ขาดการคิดวิเคราะห์ กลายเป็นรวมตัวกันก่อเหตุ สร้างความเสียหายต่อบุคคลและทรัพย์สินจนถึงขั้นทำผิดกฎหมาย

·       การเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อ ภาพยนตร์ ละคร เกม ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อความคิดของเด็ก ๆ ได้ ทำให้คิดว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้และนำไปปฏิบัติกับผู้อื่น

·       สาเหตุจากตัวเด็กเองหรือสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ระดับสติปัญญา ระดับความฉลาดทางอารมณ์ Emotional quotient หรือ (EQ) ต่ำ สมาธิสั้น ทำให้โมโหง่าย หงุดหงิดง่ายและใช้กำลัง ที่เกิดจากพื้นฐานของการควบคุมอารมณ์ไม่สมดุล

 

วิธีรักษาโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว

การรักษาโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวนั้น จิตแพทย์จะทำการซักถามข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว อายุ พฤติกรรม แรงจูงใจและอื่น ๆ เป็นการหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้การรักษาเห็นผลมากที่สุด ซึ่งวิธีการที่ใช้รักษาจะมีดังนี้

·       จิตบำบัด ซึ่งการรักษาด้วยจิตบำบัดจะเน้นไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด การแก้ปัญหาและการรับมือในเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการอารมณ์อย่างถูกต้อง

·       ครอบครัวบำบัด เป็นการรักษาโดยใช้ความร่วมมือจากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่และผู้ปกครอง โดยการพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำแบบนั้นอย่างเปิดใจ รวมถึงการอบรมพ่อแม่หรือผู้ปกครองในการปฏิบัติตัวกับเด็ก

·       การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยยานั้น จิตแพทย์จะทำการวินิจฉัยยาที่เหมาะกับอาการของแต่ละคน เพื่อรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว เช่น ยาต้านเศร้า ยาต้านโรคจิตและยาจิตเวชอื่น ๆ

การดูแลเอาใจใส่เด็กเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการให้ความรู้ เปิดอกเปิดใจ  พูดคุยกัน ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขในความสัมพันธ์ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลสินแพทย์

https://bit.ly/48Cfh0p

·       กระทรวงสาธารณสุข

https://bit.ly/3P8MREq

·       เว็บไซต์ Hello Khunmor

https://bit.ly/3P8L8Pa

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ