ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
02 กุมภาพันธ์ 2566

ใจสั่น ตื่นตระหนกง่าย แค่เป็นคนขี้กังวลหรือเป็นโรคแพนิค

เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดันทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน ร่างกายมักจะมีปฏิกิริยาแสดงความวิตกกังวลและตื่นตระหนก เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ หรือหายใจติดขัด เหงื่อออก มือเท้าสั่น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้บ่อยครั้งและไม่สามารถหาสาเหตุได้คุณอาจจะกำลังมีอาการของโรคแพนิค แล้วต้องกังวลขนาดไหนถึงรียกว่าแพนิคล่ะ วันนี้เรามีคำตอบ

 

วิตกแค่ไหนถึงเข้าข่ายโรคแพนิค

              อาการวิตกกังวล ดูเผิน ๆ แล้วอาจจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการของโรคแพนิค เพียงแต่ว่าอาการวิตกกังวลจะเป็นอาการชั่วคราวที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว กังวล หรือตกใจ เมื่อเหตุการณ์จบลงอาการวิตกกังวลก็จะดีขึ้นหรือหายไป แต่โรคแพนิคจะมีอาการรุนแรงกว่าดังต่อไปนี้

-          หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอก ไปจนถึงหายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศ

-          รู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรง ทำอะไรไม่ถูกจนร่างกายไม่สามารถขยับได้

-          รู้สึกเวียนศีรษะหรือมีอาการคลื่นไส้

-          เหงื่อออกและมือเท้าสั่น

-          รู้สึกวูบวาบ ร้อน ๆ หนาว ๆ ขึ้นมากะทันหัน

-          มีอาการเหน็บคล้ายเข็มทิ่มที่นิ้วมือหรือเท้า

-          วิตกกังวล หวาดกลัวความตาย กังวลที่ไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้ กลัวเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

-          หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่เคยทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต

 

โรคแพนิคคืออะไร

              โรคแพนิค หรือ Panic Disorder เกิดจากการที่ฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนกับไฟฟ้าลัดวงจร เป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจ มักจะพบในกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายหรือช่วงย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และผู้หญิงมีโอกาสป่วยมากกว่าผู้ชาย

                  สาเหตุของโรคแพนิคนั้นไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึ่งเกิดได้ทั้งจากปัจจัยทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต

1.        ปัจจัยทางสุขภาพกาย

-          การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

-          ความผิดปกติของสมอง

-          การได้รับสารเคมีต่าง ๆ เช่น ผู้ใช้สารเสพติด หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

2.        ปัจจัยทางสุขภาพจิต การต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต เช่น การสูญเสียหรือพลักพรากจากบุคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น

 

วิธีการรักษา

              โรคแพนิคไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงแต่ก็ควรเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาสามารถแบ่งออกเป็นได้ 2 วิธีหลัก ๆ คือ

1.        รักษาด้วยจิตบำบัด วิธีนี้เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพราะผู้ป่วยจะได้ผ่านกระบวนการที่ช่วยให้เข้าใจอาการและโรคแพนิคและรู้วิธีรับมือกับอาการป่วยของตัวเอง ในกระบวนการจิตบำบัดจะเป็นการบำบัดความคิดและพฤติกรรม เพื่อเข้าใจว่าอาการของโรคแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันตราย โดยนักจิตบำบัดจะเริ่มจากการถามถึงความรู้สึกของผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการแพนิค เพื่อเข้าใจสาเหตุของอาการ หลังจากนั้นจะเริ่มการบำบัดโดยการปรับความคิดให้รับรู้ความเป็นจริงและมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวก ต่อมาก็จะให้ผู้ป่วยฝึกเผชิญหน้ากับความกลัว โดยเน้นให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการแพนิคที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยจะได้เข้าใจและฝึกฝนวิธีคิดและการตอบสนองต่ออาการหวาดกลัวและตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น

2.        รักษาด้วยยา เพราะอาการของโรคแพนิคเกิดจากความผิดปกติการสารสื่อประสาทในสมอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ยารักษา ซึ่งจัดเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

a.        ยาต้านซึมเศร้า – เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น SSRI, SNRIs หรือ ยาไตรไซลิก เป็นต้น

b.        ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน - เป็นยาระงับประสาท ช่วยลดอาการวิตกกังวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีข้อควรระวังคือผู้ที่ใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้

c.        ยากันชัก - ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวลให้บรรเทาลง

 

นอกจากการรักษาที่กล่าวมาแล้ว การปรับวิธีการใช้ชีวิต เช่น ใช้ชีวิตประจำวันให้เร่งรีบน้อยลง รับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ ลดเวลาการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความวิตกกังวล รวมไปถึงการฝึกอยู่กับลมหายใจเพื่อควบคุมสติ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้เรารับมือกับทั้งอาการวิตกกังวลและโรคแพนิคเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้สภาพแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานควรมีความเข้าใจในความรู้สึกที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ และเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการแพนิคควรให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อควบคุมสติและให้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เช่น บอกว่าสิ่งที่เกิดนั้นไม่อันตราย เดี๋ยวความรู้สึกนี้จะหายไป การมองโลกในแง่บวกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งในกระบวนการรักษา ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจึงควรมีความระมัดระวังในการใช้คำพูด รวมถึงหากิจกรรมที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย ดูซีรี่ย์ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ งานศิลปะ เป็นต้น

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลรามคำแหง
https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1723

·       โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3t4JS3R

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3t4e4fp

บทความสุขภาพที่สำคัญ