ฤดูฝนเป็นช่วงที่สภาพอากาศมักจะแปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก และมีความชื้นในอากาศมากกว่าฤดูอื่น ๆ ซึ่งสภาพอากาศแบบนี้เหมาะสำหรับการฟักตัวและแพร่กระจายของโรคระบาดมากมาย หนึ่งในโรคยอดฮิตที่มักจะเป็นฝันร้ายของคุณพ่อคุณแม่ในช่วงหน้าฝนของทุกปีก็คือ โรคมือเท้าปาก ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยและลามมาถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้
มารู้จักโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) แม้จะสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปีและแสดงอาการรุนแรงมากกว่าในกลุ่มเด็กโตและผู้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นทุกปีและมีการแพร่ระบาดสูงสุดในสถานศึกษาและสถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรง และพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยมาก โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส (Entorovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ16 (Coxsackie A16 Virus) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71)
การติดต่อของโรค
โรคมือเท้าปากจะมีระยะฟักตัว 3-6 วันหลังจากได้รับเชื้อ และผู้ป่วยสามารถเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มแสดงอาการไปจนถึงเมื่อหายดีแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ เชื้อไวรัสจะติดต่อจากของเหลวและของเสียที่ออกจากร่างกายผ่านทางการไอและจาม หรือแม้แต่การสัมผัสปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วย
อาการของโรคมือเท้าปาก
ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส หลังจากมีไข้ 1-2 วันผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเจ็บคอ เจ็บปาก ไม่อยากรับประทานอาหารจนทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เพราะเริ่มมีตุ่มแดงและรู้สึกเจ็บที่ลิ้น เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือและฝ่าเท้า และง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า หลังจากนั้นตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มพองน้ำใส ซึ่งจะมาพร้อมอาการอักเสบและบวมแดง
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยสังเกตอาการว่าลูกมีแผลเกิดขึ้นเยอะหรือไม่ เพราะในบางรายอาจมีแผลลามมากจนทำให้ไม่สามารถรับประทานอะไรได้เลย หากลูกแสดงอาการเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับน้ำเกลือเพื่อประคองอาการจนกว่าจะรักษาจนหายขาด
โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายขาดได้เองภายในระยะเวลา 5-7 วัน แต่ก็มีโอกาสที่อาจจะเกิดสภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เช่นเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกแสดงอาการที่น่ากังวลเหล่านี้หรือไม่
· มีอาการซึม ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม
· บ่นปวดศีรษะมาก ปวดจนทนไม่ไหว
· หายใจหอบ หายใจเร็ว ดูเหนื่อย หน้าซีด มีเสมหะมาก
· มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ
· ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน และอาเจียน
· มีอาการชัก เกร็ง หมดสติ
· มีอาการสะดุ้งผวา มือสั่น ขาสั่น เดินเซ
หากมีอาการเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะนั่นคือสัญญาณของสภาวะก้านสมองอักเสบและภาวะสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุด ที่ตามสถิติจะพบเพียง 1-5 รายต่อปี นอกจากนั้นยังมีสภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นแต่ไม่รุนแรง เช่น สภาวะขาดน้ำ หรือเล็บมือเล็บเท้าหลุด เป็นต้น
มือเท้าปากเปื่อย vs อีสุกอีใส
โรคมือเท้าปากเปื่อยกับโรคอีสุกอีใสนั้น หากพิจารณาจากอาการที่แสดงออกมาจะมีความคล้ายคลึงกันมาก เพราะในเบื้องต้นจะมีอาการไข้ เบื่ออาหารและมีตุ่มแดงอักเสบและตุ่มใสขึ้นตามจุดต่าง ๆ แต่โรคอีสุกอีใสจะเกิดผื่นขึ้นกระจายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างชัดเจน เช่น ใบหน้า หน้าอก หลัง ปาก เปลือกตาและแม้แต่อวัยวะเพศ แตกต่างกับโรคมือเท้าปากที่จะมีผื่นเกิดขึ้นตามตัวน้อยมาก ตุ่มและผื่นที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่ช่องปาก ฝ่ามือและฝ่าเท้ามากที่สุด นอกจากนี้โรคอีสุกอีใสยังเกิดกับกลุ่มเด็กที่มีช่วงอายุโตกว่าคือต่ำกว่า 15 ปี และเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคงูสวัด ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกับโรคมือเท้าปาก
การรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคมือเท้าปากได้หายขาดทันที ดังนั้นหากพบว่าลูกน้อยแสดงอาการของโรคนี้ ในเบื้องต้นควรพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ใช้การรักษาตามอาการที่ปรากฏ
· เมื่อมีไข้ควรเช็ดตัวเป็นระยะเพื่อลดไข้ รับประทานยาลดไข้และยาแก้ปวด
· ใช้ยาทาตุ่มในช่องปากเพื่อลดอาการเจ็บ
· รับประทานอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ
· ดื่มน้ำเย็น อมน้ำแข็งหรือรับประทานไอศกรีม เพื่อใช้ความเย็นทำให้เกิดอาการชาในช่องปาก ลดอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ง่ายและมากขึ้น
· หากผู้ป่วยเป็นเด็กอ่อนอาจต้องใช้การป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด
· หากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้มากพอ ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือแร่ผ่านทางเส้นเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยมีแรงในขณะที่รักษาอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย
วิธีการป้องกันโรคมือเท้าปากเปื่อย
โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ การป้องกันจึงทำได้ด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้
· หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการพาเด็กเล็กเข้าไปในพื้นที่ชุมชนโดยไม่จำเป็น เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการแพร่ระบาดของโรค
· คุณพ่อคุณแม่ควรรักษาสุขอนามัยทั้งของตนเองและของลูก รวมไปถึงทุกคนที่ต้องการสัมผัสตัวของลูกจำเป็นจะต้องล้างมือให้สะอาดเสียก่อน หรือหากคนใกล้ชิดกำลังมีอาการเจ็บป่วยก็ควรหลีกเลี่ยงการให้สัมผัสกับลูกโดยตรง เช่น การกอด การหอม เป็นต้น
· หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ รวมไปถึงการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร
· รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
· ใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม
· เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้ว ต้องรีบล้างมือให้สะอาดทันที
· รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
· หากลูกมีอาการของโรคมือเท้าปากเปื่อยควรรีบพาเข้าพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการและรับคำแนะนำในการรักษา และควรหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือจนกว่าแผลจะหายสนิท
· คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของลูก ๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ
สำหรับโรงเรียนและสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงจะเป็นศูนย์กลางของการระบาดของโรค สามารถป้องกันได้โดย
· จัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขอนามัย
· ฝึกฝนและคอยดูแลให้เด็ก ๆ มีของใช้ประจำตัว เช่น แก้วน้ำ ขวดนม ผ้าเช็ดหน้า
· ฝึกวินัยให้เด็ก ๆ หมั่นล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
· หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ และของเล่น รวมไปถึงสุขอนามัยส่วนตัวของผู้ดูแลด้วย
· คัดแยกเด็กที่มีอาการป่วยออกตั้งแต่ตอนที่เดินเข้าหน้าประตูโรงเรียน
· หากพบเด็กในความดูแลป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรปิดโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์และทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นทั้งหมด
โรคมือเท้าปากเปื่อยไม่ใช่โรคใหม่ แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ก็สร้างความทรมานให้กับเด็ก ๆ ได้ไม่น้อย โรคนี้มักจะมาเยี่ยมเยียนเด็ก ๆ อยู่เป็นประจำทุกปี การเกิดการระบาดแต่ละครั้งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของเด็ก ๆ แล้ว ยังส่งผลต่อความต่อเนื่องในการเรียน และสภาพจิตใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วย ดังนั้นทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่โรงเรียนควรหมั่นดูแลความสะอาด และสอดส่องอาการของเด็ก ๆ อยู่เป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย หรือหากเมื่อเกิดการระบาดขึ้นแล้วก็ไม่เกิดการขยายเป็นวงกว้าง
สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้กับบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/hand-foot-mouth
· งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3xF3Pls
· คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=828
https://www.si.mahidol.ac.th/th/tvdetail.asp?tv_id=419
· โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/hand-foot-and-mouth-disease/
· เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3aWYU6x
https://bit.ly/3QgmCuk
