ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
11 เมษายน 2565

long covid คือ อะไร สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และเข้ารับการรักษาได้ทันที

เมื่อผลการตรวจ PCR Test ออกมาเป็นบวกยืนยันว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา ลำดับถัดไปคือการเข้ารับการรักษาตามระบบ และการรักษาจะสิ้นสุดเมื่อตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา ผู้ป่วยบางรายแม้ร่างกายจะไม่มีเชื้อไวรัสเหลืออยู่แล้ว แต่กลับยังมีอาการผิดปกติหลงเหลืออยู่ ทำให้เกิดความกังวลและอาจะถึงขั้นเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ภาวะนี้เรียกว่าอาการโควิดระยะยาว (Long COVID) หากเรารู้และเข้าใจก็จะสามารถสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

อาการ Long COVID คืออะไร?

ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post COVID คือภาวะความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วยหลังได้รับเชื้อไวรัสโคโรนานาน 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป ทำให้แม้จะรักษาหายดีแล้วแต่กลับรู้สึกว่ายังมีอาการป่วยหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเชื้อลงปอด เพราะระหว่างที่ได้รับเชื้อไวรัสร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อไปจับเซลล์โปรตีนของอวัยวะภายใน เช่น ปอด ทำให้เกิดเป็นอาการอักเสบ ปอดที่เคยยืดหยุ่นก็จะเริ่มแข็งและอาจเกิดรอยแผลหรือพังผืดในเนื้อปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ และเกิดอาการ เช่น เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือในบางรายอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้ หรือติดเชื้อไวรัสโคโรนาซ้ำแต่ต่างสายพันธุ์

การติด COVID -19 ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

COVID -19 เป็นโรคที่ส่งผลต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาจะมีอาการแตกต่างกันไปตามแต่ปัจจัยทางด้านสุขภาพ เช่น ระดับภูมิคุ้มกัน โรคประจำตัว ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มอาการออกได้เป็น 3 ระดับคือ
• ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว - ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ต่ำ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไม่รับกลิ่น ไม่รู้รส ตาแดง มีผื่นขึ้น ถ่ายเหลว หายใจได้ปกติ ไม่มีอาการปอดอักเสบ
• ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง – ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มมีอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ หายใจลำบาก หายใจเร็ว ไอแล้วเหนื่อย เวียนศีรษะ อาเจียน ถ่ายเหลวไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อวัน ปอดอักเสบ และมีอาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว
• ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง – ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอาการร้ายแรงและเป็นอันตรายที่สุด ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติด้านระบบการหายใจอย่างรุนแรง หอบเหนื่อยตลอดเวลา พูดไม่เป็นประโยค หายใจและเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก แน่นหน้าอกตลอดเวลา ซึม ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว ปอดบวม ระดับออกซิเจนลดลง และปอดอักเสบรุนแรง
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะสังเกตได้ว่าจุดสำคัญของอาการโรค COVID -19 จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบการหายใจและประสิทธิภาพการทำงานของปอดเป็นหลัก แม้แต่กลุ่มที่ไม่แสดงอาการก็ตาม หากเมื่อเชื้อไวรัสลงปอดแล้ว ก็มีโอกาสที่อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้วเมื่อเข้ารับการรักษาเชื้อไวรัสจะหายไปในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังการรับเชื้อ หากมีอาการต่อเนื่องกันเกิน 4 สัปดาห์และยังรู้สึกว่าร่างกายยังไม่กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น สามารถสันนิษฐานได้ว่าคุณกำลังเจอกับภาวะ Long COVID

อาการของภาวะ Long COVID เป็นอย่างไร

อาการ Long COVID นั้นจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน ไม่ได้มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ซึ่งภาวะ Long COVID แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามลักษณะของอาการ ดังนี้

  1. ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมไม่หายไป (New or Ongoing Symptoms) กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีอาการต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนหลังได้รับเชื้อไวรัสครั้งแรก มักจะพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงตั้งแต่แรก และจะแสดงอาการรุนแรงขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้สมาธิหรือพละกำลังมาก ๆ โดยอาการที่แสดง ได้แก่
    • มีไข้ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
    • หายใจเหนื่อยหอบ หายใจไม่เต็มอิ่ม
    • ไอ แน่นหน้าออก
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
    • ปวดท้อง ท้องเสีย รับประทานอาหารได้น้อยลงหรือไม่อยากอาหารเลย
    • ปวดหู หรือมีเสียงในหู
    • รู้สึกใจสั่น ขาดสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก รู้สึกเบลอ
    • นอนไม่หลับ
    • อารมณ์แปรปรวน
    • มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
    • ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสชาติได้ไม่เป็นปกติ
    • มีผื่นขึ้นตามตัว
    • รอบประจำเดือนมาผิดปกติ
  2. ภาวะที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติในอวัยวะหลายส่วน (Multiorgan Effects) คืออาการที่อวัยวะหลายส่วนเกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงจากการได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า พายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) หรือ กระบวนการที่เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างไซโตไคน์ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสมากเกินความจำเป็น ซึ่งแทนที่จะเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่ไซโตไคน์จะเข้าไปทำร้ายเซลล์เนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ จนทำให้อวัยวะล้มเหลวได้ มักพบในเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงเกิด Cytokine Storm คือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลสำคัญที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
    ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กอาจเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ซึ่งมีอาการของโรคคาวาซากิ ทำให้อวัยวะหลายส่วนอักเสบ ไม่ไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงที่ยังติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือหลังหายทันที และอาจจะมีผลกระทบต่ออวัยวะในระยะยาวได้
  3. ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะความเครียดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่ต้องพักรักษาตัวในห้อง ICU การต้องอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานานอาจจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง แม้ร่างกายจะไม่มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วก็ตาม อาจส่งผลในเรื่องความคิดและคำพูด อาการเหล่านี้นำไปสู่อาการผิดปกติทางจิตใจหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder; PTSD) เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การถูกปั๊มหัวใจช่วยชีวิต ความเครียดจากหลายปัจจัยส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการผิดปกติออกมาแม้จะรักษาโรค COVID หายแล้วก็ตาม

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

• กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ • สมองล้า อ่อนเพลีย
• การรับรู้รสชาติและกลิ่นผิดเพี้ยนไป
• ภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ
• ภาวะ Guillain – Barre Syndrome หรือภาวะกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนแรงอย่างฉับพลัน
• โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
• เกิดพังผืดและความผิดปกติที่ปอด
• ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
• ระบบหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ ซึ่งในเพศชายอาจส่งผลให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เนื่องจากการแข็งตัวเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดแดงในอวัยวะเพศชาย
• ความดันโลหิตสูง
• ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อน
• อวัยวะภายในอักเสบ เช่น ตับอักเสบเฉียบพลัน ไตบกพร่อง ไตวายเฉียบพลัน
• โรคนอนไม่หลับ
• ภาวะซึมเศร้า
• กลุ่มที่ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ อาจมีอาการแสบกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ระดับน้ำตาลไม่คงที่และเบาหวาน

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสมีภาวะ Long COVID

• ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาและมีภาวะปวดอักเสบรุนแรง
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
• ผู้ที่มีภาวะอ้วน
• ผู้สูงอายุ
• ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ

วิธีการดูแลตัวเองหลังติด COVID และการรักษา

• หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายที่เกิด เช่น มีไข้ ไอต่อเนื่อง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกว่าอาการแย่ลง ควรจะรับเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาอาการและรักษาได้อย่างตรงจุด หากปล่อยไว้อาจจะเป็นอันตรายได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ลิ่มเลือดในปอดอุดตัน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน
• ไม่ควรทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมากเกินไป เช่น การออกกำลังกายหนัก ๆ เพราะปอดยังต้องการระยะเวลาในการฟื้นฟู ไม่สามารถทำงานได้หนักจนเกินไป แต่สามารถเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวและฟื้นฟูตัวเอง รวมถึงเป็นการป้องกันไม่ให้ปอดทำงานหักจนเกินไปอีกด้วย
• ผู้ป่วยที่เคยได้รับออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
• ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือพบโรคประจำตัวใหม่ จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
• เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID หลังจากรักษาหายภายในเวลา 1-3 เดือน
• ระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาซ้ำ โดยการสวมใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี รักษาระยะห่าง 1.5 เมตร หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด และล้างมืออยู่เสมอ
ในปัจจุบันยังไม่ระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะ Long COVID ได้ แต่จากข้อมูลที่มีแสดงให้เห็นว่ามีผู้ป่วยมากถึง 50% มีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับภาวะนี้หลังรักษาหายจากโรคแล้ว ระดับอาการจะรุนแรงแตกต่างกันไปตามปัจจัยและสภาพร่างกายของแต่ละคน ดังนั้นการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดจะช่วยให้คุณกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรงมีความสุขอย่างแท้จริง แต่ถ้าหากอาการเหล่านั้นไม่บรรเทาลงหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและรับคำแนะนำในการดูแลตนเองที่เหมาะสมและถูกวิธี
สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต หากสงสัยว่ามีอาการ Long COVID ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้กับบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth

แหล่งที่มาของข้อมูล

• งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3vPGahJ
• โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://www.bangkokhospital.com/content/assessing-symptoms-of-covid-19
https://www.bangkokhospital.com/content/long-covid
• โรงพยาบาลรามคำแหง
https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1400
• โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ
https://www.sikarin.com/health/covid19/long-covid
• โรงพยาบาลไทยนครินทร์
https://thainakarin.co.th/cytokine-storm-tnh/
• เว็บไซต์พบแพทย์
https://www.pobpad.com/gbs
• คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=186

บทความสุขภาพที่สำคัญ