ไส้เลื่อนเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ชาย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิง ไส้เลื่อนนั้นทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว เจ็บปวด และในบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา โดยวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักว่าไส้เลื่อนคืออะไร สาเหตุการเกิดว่าทำไมเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มีอาการและรักษาอย่างไร
ภาวะไส้เลื่อนคือ
ไส้เลื่อน (Hernia) คือภาวะที่อวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ แผ่นไขมัน ฯลฯ เคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิม หรือพังผืดสูญเสียความแข็งแรง ทำให้อวัยวะภายในย้ายไปอยู่ในตำแหน่งอื่น ซึ่งเป็นตำแหน่งไหนก็ได้ตั้งแต่ท้องลงไปถึงขาหนีบ โดยหลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่าไส้เลื่อนเป็นได้เฉพาะผู้ชาย แต่จริง ๆ เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยไส้เลื่อนมีหลายแบบ เรียกตามตำแหน่งที่เกิด
ไส้เลื่อนเกิดบริเวณไหนได้บ้าง
ไส้เลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในร่างกาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อวัยวะเคลื่อนไปอยู่ โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. ไส้เลื่อนตรงขาหนีบ (Inguinal Hernia) เป็นไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุดและมักพบในเพศชาย โดยเกิดจากผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบอ่อนแอ ทำให้เกิดพื้นที่ ส่งผลให้ลำไส้เล็กเล็ดลอดออกมาบริเวณพื้นที่ว่าง มักพบเป็นก้อนตุงบริเวณขาหนีบหรืออัณฑะ
2. ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical Hernia) หรือเรียกว่าสะดือจุ่น มักพบในทารกแรกเกิดและทารกที่คลอดก่อนกำหนด เกิดจากกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องบริเวณสะดืออ่อนแอ ทำให้ลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวและดันออกมา ส่งผลให้สะดือโป่งได้ ส่วนใหญ่จะสามารถหายเองตามธรรมชาติก่อนอายุประมาณ 2-3 ปี
3. ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal Hernia) คือ เกิดจากกล้ามเนื้อและพังผืดของกระบังลมหย่อนยานและเสียความยืดหยุ่น ทำให้กระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนที่ไปยังช่องอกใกล้กระบังลม
4. ไส้เลื่อนจากการผ่าตัด (Incisional Hernias) เกิดได้กับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดบริเวณช่องท้อง ส่งผลให้ผนังหน้าท้องเกิดหย่อนยานกว่าปกติ จึงทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวและดันออกมาได้
5. ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernias) เกิดจากลำไส้เล็กส่วนหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านบริเวณขาหนีบลงไป ทำให้ลำไส้มากองอยู่ด้วยกันบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ และพบได้บ่อยในผู้หญิง
นอกจากนี้ มีภาวะไส้เลื่อนบริเวณอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ ได้แก่ ไส้เลื่อนช่องเชิงกรานและไส้เลื่อนตรงข้าง ๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง เป็นต้น
พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อน
กลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นโรคไส้เลื่อนมากที่สุด คือคนที่มีผนังหน้าท้องอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผนังบริเวณหน้าท้องจะปกติ ก็ยังสามารถที่จะเป็นโรคไส้เลื่อนได้ หากมีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นไส้เลื่อน ได้แก่
1. คนที่ยกของหนักและออกกำลังกายหนัก ๆ ซึ่งบุคคลที่ทำกิจกรรมยกของหนักหรือออกกำลังกายอย่างหนัก ๆ มีโอกาสสูงที่จะเป็นไส้เลื่อน เนื่องจากการออกแรงกับกล้ามเนื้อท้องอย่างต่อเนื่องจะทำให้แรงดันในช่องท้องมีมากขึ้น
2. คนที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าเป็นประจำ เพราะการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าสามารถเพิ่มความดันในช่องท้องได้ รวมถึงทำให้เกิดอาการไอ ไอเรื้อรัง ที่อาจทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนมากขึ้น
3. คนที่ทำงานใช้แรงอย่างหนัก โดยบุคคลที่ทำงานที่ใช้แรงเยอะ เช่น การทำไร่ ทำนา ทำสวน หรือขุดดิน ซึ่งต้องใช้แรงงานหนัก มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคไส้เลื่อน เนื่องจากการใช้แรงมาก ๆ สามารถทำให้ผนังหน้าท้องหย่อนยาน ทำให้เกิดไส้เลื่อนได้ง่ายขึ้น
ผู้ชาย ซึ่งเพศชายมีโอกาสสูงกว่าเพศหญิงที่จะเป็นโรคไส้เลื่อน โดยสาเหตุมาจากโครงสร้างทางร่างกายของเพศชายมีท่อนำอสุจิบริเวณอัณฑะ ทำให้มีพื้นที่อยู่ตรงขาหนีบ ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนมากกว่า รวมถึงผู้ชายที่มีโรคต่อมลูกหมากโต ต้องเบ่งปัสสาวะแรงขึ้น ส่งผลให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนมากขึ้นด้วย
ไส้เลื่อน มีอาการอย่างไร สังเกตได้อย่างไร
ไส้เลื่อนอาจจะไม่มีอาการปวดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม ไส้เลื่อนอาจทำให้เกิดอาการปวดและไม่สบายตัว โดยอาการมักจะรุนแรงขึ้นเมื่อยืน เกร็ง หรือยกของหนัก คนส่วนใหญ่ที่มีอาการบวมหรือเจ็บมากขึ้นมักจะไปพบแพทย์ ซึ่งเบื้องต้นเราสามารถสังเกตความผิดปกติของร่างกายได้ง่าย ๆ โดยสังเกตว่าบริเวณหน้าท้องมีการบวมนูนเป็นก้อนออกมาอย่างผิดปกติไหม และถ้ามีอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ควรไปพบแพทย์ เช่น ปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน ไม่สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม คลื่นไส้ อาเจียน เพราะอาการเหล่านี้อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
วิธีการรักษาไส้เลื่อน
โดยทั่วไปแล้ว หลังจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไส้เลื่อนแล้ว การรักษาหลักคือการผ่าตัด โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ที่แผนกศัลยกรรม ซึ่งจะผ่าตัดโดยศัลยแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางด้านสาขาศัลยกรรม โดยแพทย์จะทำการปิดรูหรือผนังหน้าท้อง เพื่อไม่ให้อวัยวะภายในเคลื่อนตัวออกมาอีก การผ่าตัดไส้เลื่อนสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการเปิดแผล เพื่อเข้าไปเสริมความแข็งแรงที่ผนังช่องท้องด้วยตาข่ายสังเคราะห์ การผ่าตัดประเภทนี้มีข้อดีคือ ราคาไม่แพง เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน แต่มีข้อเสียคือ แผลใหญ่และพักฟื้นนาน
2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดประเภทนี้จะผ่าตัดผ่านรูเล็ก ๆ บนหน้าท้อง โดยข้อดีคือ แผลจะมีขนาดเล็กมาก ๆ ฟื้นตัวเร็วภายใน 1 สัปดาห์
ไส้เลื่อน เป็นภาวะที่พบบ่อยและเกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิด สาเหตุ และอาการของไส้เลื่อนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาก่อนที่จะสายเกินไป สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
แหล่งที่มาของข้อมูล
• โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://bit.ly/3RDXm2W
• โรงพยาบาลเพชรรัตน์
https://bit.ly/3vh26E5
• โรงพยาบาลพญาไท
https://bit.ly/4aDSP97
https://bit.ly/3Spc2o6
• MedicalNewstoday
https://bit.ly/3H1M2si
