ปวดตามเอว ปวดตามหลัง ปวดตามตัว อาการยอดฮิตของชาวออฟฟิศที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยช่วงแรก ๆ อาจจะทนได้ แต่หลัง ๆ อาจจะทำให้เดินลำบาก ขยับตัวลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีต้นเหตุมาจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท โดยวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทว่ามีอาการเป็นอย่างไร รักษาหายไหม และมีปัจจัยแบบไหนบ้างที่ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร
ปกติแล้วกระดูกสันหลังของเราจะมีข้อต่อเรียงกันอย่างเป็นระเบียบสวยงาม และถูกคั่นด้วยสารที่มีลักษณะเหมือนเจลนิ่ม ๆ ระหว่างข้อต่อ โดยส่วนนี้ถูกเรียกว่า หมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลังนั้นทำให้เราสามารถก้มตัว แอ่นตัว และขยับหลังไปมาได้ แต่เมื่อหมอนรองกระดูกเสื่อมจนเกิดการฉีกขาด ทำให้หมอนรองกระดูกเหล่านี้หลุดออกจากข้อต่อและไปกดทับเส้นประสาทของเรา ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณเอว คอ หลัง ร้าวไปยันสะโพกโดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกดทับ และถ้ายิ่งถูกกดทับมากขึ้นเท่าไร อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
· ปวดแขนหรือขา หากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอยู่ที่หลังส่วนล่าง จะรู้สึกปวดบริเวณบั้นท้าย ต้นขา เท้าและน่อง
· มีอาการชาหรือเจ็บแปลบ ผู้ที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะมีอาการชาหรือรู้สึกเสียวแปลบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เป็นผลกระทบจากการโดนกดทับเส้นประสาท
· อ่อนแอ ไม่มีแรง กล้ามเนื้อนั้นถูกสั่งการผ่านระบบประสาท แต่เมื่อได้รับผลกระทบก็จะทำให้ไม่มีแรงส่งผลให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นยกของหรือหยิบจับสิ่งต่าง ๆ
· ระบบขับถ่ายผิดปกติ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ จนไม่สามารถอั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้
ปวดแบบไหนถึงเรียกว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
อาการปวดเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่อาการหลักที่จะบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั่นคือ อาการปวดร้าวจากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอร้าวมาจนถึงแขนหรือปวดหลังแล้วร้าวลงมาส่วนล่าง นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ อีก เช่น ไอหรือจามแล้วปวดตามตัว สะโพก หรือหลัง อาการชาที่ขาหรือเท้า เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด
ความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ปัจจัยบางปัจจัยก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ มีปัจจัยดังต่อไปนี้
· น้ำหนักตัว: การที่มีน้ำหนักตัวที่มากก็มีความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยสามารถสังเกตตนเองได้ว่าตนเองมีน้ำหนักมากเกินหรือไม่ จากการหาค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI โดยการนำน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ก็จะได้ค่าดัชนีมวลกายออกมา ซึ่งค่าดัชนีมวลกายของคนที่มีน้ำหนักตัวปกติจะอยู่ 18.5 – 22.9 แต่ถ้าหากค่าดัชนีมวลกายมากกว่านี้ ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมากกว่าคนที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติ
· อาชีพและพฤติกรรม: อาชีพที่ต้องใช้แรงยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหลังมากกว่าอาชีพอื่น ๆ เพราะพฤติกรรมที่ใช้หลังรับแรงนั้นอาจทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ นอกจากนี้การนั่งหรือยืนท่าเดิมนานเกินไปอย่างพนักงานออฟฟิศก็มีความเสี่ยงได้เหมือนกัน เพราะพฤติกรรมที่อยู่อริยาบถเดิมนาน ๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับที่กระดูกสันหลัง
· อายุ: ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เนื่องจากข้อต่อและกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมตัวลง จึงอาจทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนได้
· การออกกำลังกาย: ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายกล้ามเนื้อก็จะไม่แข็งแรง หมอนรองกระดูกก็เสื่อมสภาพได้ง่าย ในทางกลับกันถ้าออกกำลังกายหนักเกินไป ก็มีโอกาสสร้างภาระให้กับข้อและกระดูกได้เช่นกัน ดังนั้นควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อย่างน้อย 20–30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
เมื่อมีอาการเหล่านี้แล้วไม่ต้องตกใจหรือกระวนกระวาย เพราะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็สามารถหายเองได้ตามธรรมชาติจากการดูแลสุขภาพร่างกาย ตั้งแต่การพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ กระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรักษาได้อย่างถูกวิธี โดยการรักษานั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ยาบรรเทา เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับยา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ อีก ได้แก่ กายภาพบำบัด การผ่าตัด และที่สำคัญคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น ปรับเปลี่ยนท่านอน ท่าเดิน ท่านั่งและอิริยาบถต่าง ๆ เพื่อให้อาการดีขึ้นและลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ
ชาวออฟฟิศอย่างเรา ๆ ก็คงมีอาการปวดตามร่างกายไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ถ้าเกิดว่ามีอาการปวดมากหรืออาการเหล่านั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิต การปรึกษาและพบแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้เราห่างไกลจากความเจ็บป่วยได้สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต สามารถใช้บริการ Krungthai-AXA Care Coordination บริการพิเศษที่ให้คำปรึกษาลูกค้าที่มีอาการเจ็บป่วยหรือได้รับการวินิจฉัย โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-services/care-coordination
แหล่งที่มาของข้อมูล
· Penn Medicine
https://bit.ly/3MWVeSl
· NHS
· MayoClinic
· โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์
