ตากุ้งยิงเป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดง่ายกับคนทุกเพศ ทุกวัย เพราะแค่เราเผลอปล่อยให้สิ่งสกปรกเข้าสู่ดวงตา ก็สามารถทำให้เราเป็นโรคตากุ้งยิงได้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุพื้นฐานอย่างการที่เผลอเอามือที่ไม่สะอาดไปสัมผัสกับดวงตา หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น การล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด การใส่คอนแท็กต์เลนส์ เป็นต้น สำหรับใครที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินไป เพราะสามารถรักษาให้หายโดยง่าย และที่สำคัญทุกคนทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราได้นำวิธีการรักษา รวมถึงข้อมูลที่น่าสนใจของโรคตากุ้งยิงมาฝากกันในครั้งนี้
กลไกการเกิดตากุ้งยิง
ตากุ้งยิง (Stye) คือการอักเสบบริเวณขอบเปลือกตาที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียชื่อว่า Staphylococcus Aureus โดยนอกจากสาเหตุที่ได้กล่าวไปข้างต้น โรคนี้ยังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น เช่น การเป็นโรคเปลือกตาอักเสบอยู่เดิม การมีประวัติเป็นโรคตากุ้งยิงมาก่อน หรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน เป็นต้น
ชนิดของตากุ้งยิง
โรคตากุ้งยิงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามบริเวณที่เกิด
1. ตากุ้งยิงภายนอก หรือตากุ้งยิงชนิดหัวผุด ตุ่มอักเสบจะเกิดขึ้นที่บริเวณต่อมไขมันในรูขุมขนดวงตา ซึ่งอยู่นอกขอบเปลือกตา ตัวตุ่มอักเสบมักจะมีขนาดใหญ่ สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย
2. ตากุ้งยิงภายใน หรือตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน ตุ่มอักเสบจะเกิดขึ้นด้านในเปลือกตา บริเวณต่อมไมโบเมียนที่มีหน้าที่ผลิตไขมันเหลว ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำตา และเมื่อตัวตุ่มอักเสบเกิดในภายใน สิ่งที่สังเกตได้คือความนูนหรือความบวมบริเวณเปลือกตา
อาการของตากุ้งยิง
โรคตากุ้งยิงทั้ง 2 ชนิดจะมีอาการเริ่มต้นที่คล้ายกันคือ เจ็บหรือคันบริเวณเปลือกตา หรือมีทั้งสองอาการร่วมกัน และตามมาด้วยอาการปวด บวม แดง และสิ่งที่บ่งชี้อย่างชัดเจนคือตุ่มอักเสบที่เกิดได้ทั้งในรูปแบบของฝีหรือหัวหนอง ซึ่งเป็นไปตามความรุนแรงของการอักเสบ
วิธีรักษาตากุ้งยิงด้วยตัวเอง
การรักษาโรคตากุ้งยิง ทุกคนสามารถดูแลรักษาได้ด้วยตัวเอง โดยส่วนใหญ่อาการบวมของฝีหรือหัวหนองจะเกิดขึ้นประมาณ 4-5 วัน และสามารถหายไปได้เอง หากเราปฏิบัติตามแนวทางพื้นฐานคือ ประคบบริเวณเปลือกตาด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นประมาณ 5-10 นาที วันละ 3-5 ครั้ง ขณะเดียวกันพยายามล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นตากุ้งยิง และห้ามเด็ดขาดสำหรับการบีบหรือระบายหนอง
หากปฏิบัติตามข้อแนะนำข้างต้นแล้วอาการยังไม่ทุเลาลง แนะนำให้เดินทางไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับคำวินิจฉัยและรักษาเป็นรายบุคคล เพราะอาจเป็นโรคตากุ้งยิงชนิดที่มีความอักเสบรุนแรงเกินกว่าที่จะรอให้หายเองได้ ในบางรายมีความจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงการเจาะระบายหนองเพื่อลดอาการอักเสบ ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้ป่วยอาการทุเลาและหายจากโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าตากุ้งยิงไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด หากเรารู้วิธีการรับมือและรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องไปพบแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ควรระมัดระวังในการใช้มือขยี้ตาและใส่คอนแท็กต์เลนส์โดยการล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสดวงตา รวมถึงการล้างเครื่องสำอางให้สะอาดหมดจด สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ ผ่านบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ บนแอปพลิเคชัน Emma by AXA ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-services/telehealth
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลเพชรเวช
https://bit.ly/3wHKKy1
· งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3eatkDC
· โรงพยาบาลศครินทร์
https://bit.ly/3wHYjNU
· เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3qgtvjT
