อาการคันบริเวณจุดซ่อนเร้นไม่ว่าจะเกิดกับเพศใด ล้วนสร้างความรำคาญและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย โดยหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าวคือการป่วยเป็นโรคโลน ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ แนะนำให้เช็กว่าใช่โรคโลนหรือไม่ เพื่อจะได้รักษาอย่างถูกต้องและสามารถบอกลาความคันที่แสนกวนใจ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเพื่อให้ห่างไกลจากโรคนี้มาบอกต่อกันด้วย
รู้จักโรคโลน
ชื่อของโรคโลนมีที่มาจาก ‘โลน’ (Pubic Lice) สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในกลุ่มปรสิตที่ดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือดจากผิวหนังมนุษย์ โดยพบในบริเวณที่มีขนหยาบขึ้น เช่น ขนรักแร้ ขนบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น โลนมีขนาดประมาณ 2 มม. สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ ตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาอ่อน ลักษณะเด่นคือมีขา 6 ขา โดยขาหน้า 2 ข้างมีรูปทรงคล้ายก้ามปู ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เกาะเกี่ยวกับเส้นขน
อาการของโรคโลน
โรคโลนส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยอาการคันจะเกิดขึ้น 3-4 สัปดาห์หลังจากผู้ป่วยติดโลนมาจากผู้ที่ป่วยอยู่ก่อนหน้า นอกจากบริเวณจุดซ่อนเร้นที่เป็นจุดเริ่มต้นหลักของโรค ยังสามารถเกิดความคันในบริเวณอื่น ๆ ที่มีเส้นขนของร่างกายได้อีก ไม่ว่าจะเป็นรักแร้ ขา หนวด เครา คิ้ว หรือขนตา
สำหรับวิธีสังเกตตัวเองนั้น อย่างแรกเลยสังเกตได้จากอาการคันที่จะมีมากเป็นพิเศษในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากโลนจะเริ่มเดินอีกครั้งเมื่อไม่มีแสงไฟ ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่สังเกตได้คือการสำรวจบริเวณใกล้เคียงกับจุดซ่อนเร้น อาจพบไข่ของโลนที่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลในบริเวณเส้นขน หรือมีจุดดำติดอยู่กับกางเกงชั้นใน ซึ่งนั่นคืออุจจาระของโลนที่เป็นอีกสิ่งสนับสนุนความเป็นไปได้ของการเกิดโรค นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ รู้สึกหงุดหงิดหรือฉุนเฉียว อ่อนเพลียไม่มีแรง และอาจมีรอยช้ำที่เกิดจากการกัดในบริเวณใกล้เคียงอย่างต้นขาเป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคโลน
จริงอยู่ว่าโรคโลนอาจไม่ได้มีความอันตรายถึงชีวิต แต่สถานการณ์อาจแย่ลงหากโลนคืบคลานไปถึงบริเวณดวงตาก็อาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ รวมถึงถ้าหากอาการคันมีอาการรุนแรงและเกาจนเกิดแผลก็จะนำไปสู่การติดเชื้อได้ ดังนั้นเมื่อทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้แล้ว จึงต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบรุนแรงที่อาจตามมาได้ โดยขั้นตอนการรักษาโรคโลนสามารถทำได้ดังนี้
1. กำจัดขนบริเวณที่เป็นแหล่งของโรค
2. ใช้แชมพู โลชั่น ครีม หรือยาทาที่มีฤทธิ์ในการกำจัดตัวโลน ซึ่งถ้าหากใช้ยาชนิดทาใช้เพียง 1-2 ครั้งก็จะหายเป็นปกติได้ ส่วนแชมพู โลชั่น ครีม ควรใช้จนกว่าจะไม่เจอตัวโลน แต่อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดไข่ที่ยังไม่ฟักตัวได้
3. ใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำอีกครั้งในอีก 3-7 วันต่อมา เพื่อกำจัดโลนส่วนที่เพิ่งฟักออกจากไข่ให้หมดไป
เมื่อทำการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์จนครบขั้นตอน อาการคันจะยังคงเหลือประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงทุเลาจนกลับสู่สภาวะปกติของผิวหนัง สำหรับกรณีที่ไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสูตินรีเวชหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ข้อปฏิบัติเพื่อห่างไกลจากโรคโลน
พื้นฐานของการห่างไกลจากโรคนี้คือการดูแลสุขอนามัยอย่างดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคโลน รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกันเพราะโลนสามารถซ่อนตัวอยู่ตามเนื้อผ้า ดังนั้นการใช้ผ้าเช็ดตัว หรือแม้แต่นอนเตียงเดียวกันก็สามารถติดได้ สำหรับผู้ที่มีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคโลน แนะนำให้งดกิจกรรมทางเพศเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไป ควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ เช่น การลองเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า หากเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงการลองชุดว่ายน้ำหรือชุดชั้นใน เพราะความแนบผิวของเสื้อผ้ากลุ่มนี้อาจเป็นสะพานในการแพร่โรคได้ และเมื่อกลับถึงบ้าน ให้ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดหมดจด เพื่อลดความเสี่ยงการติดโรคโลน นอกจากนี้การหมั่นซักเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัวอย่างผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคนี้ได้
จะเห็นได้ว่าโรคโลนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่ก่อความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นถ้าหากเราหมั่นรักษาความสะอาดและระมัดระวังอยู่เสมอ ก็มั่นใจได้เลยว่าเราจะปลอดภัยจากโรคโลนได้อย่างแน่นอน สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิตที่มีอาการคันและต้องการตรวจเช็กเบื้องต้น สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้กับบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth
แหล่งที่มาของข้อมูล
· คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1091
https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=830
เว็บไซต์พบแพทย์
https://www.pobpad.com/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%99-2
