คำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ แม้จะมีความหมายในเชิงบวก แต่สำหรับกลุ่มคนผู้เสพติดความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist ภาวะนี้กลับมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตในหลากหลายแง่มุม ครั้งนี้เราจึงนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความเป็น Perfectionist มาให้ทุกคนได้เรียนรู้ มากไปกว่านั้นคือการสำรวจตนเอง พร้อมนำเสนอวิธีการปรับลดพฤติกรรม Perfectionist ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
ลักษณะบุคคลกลุ่ม Perfectionist
Perfectionist คือผู้ที่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionism โดยจะมีลักษณะนิสัยรัก ชื่นชอบหรือเสพติดความสมบูรณ์แบบ ตั้งมาตรฐานสูง คาดหวังสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความล้มเหลว หรือได้รับคำตำหนิ นอกจากนี้ยังมักมองหาจุดบกพร่องของผู้อื่น บางกรณีสามารถพัฒนาไปสู่การควบคุม หรือบงการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตผู้อื่นให้เป็นไปตามความคาดหวังของตนเอง ซึ่งลักษณะของ Perfectionist สามารถแบ่งตามหลักทางจิตวิทยาเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Self-Oriented Perfectionism คือผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบให้ตนเอง
2. Other-Oriented Perfectionism คือผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบให้คนรอบข้าง เช่น คนรัก คนในครอบครัว เพื่อน
3. Socially-Prescribed Perfectionism คือผู้ที่เชื่อว่าหากตนเองเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์แบบ จะทำให้เป็นที่ยอมรับ
สาเหตุการเป็น Perfectionist
ความเป็น Perfectionist เกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายใน กล่าวคือแรงผลักจากนิสัยส่วนตัว และปัจจัยภายนอกอย่างแรงกดดันจากสังคมที่มีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา และการใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่มีส่วนให้ระดับความเป็น Perfectionist รุนแรงขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ที่เป็น Perfectionist ให้มีมากขึ้นในสังคม เนื่องจากต้องการจะเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
Perfectionist ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
แม้ Perfectionist จะไม่ได้จัดว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติทางจิต แต่ก็สร้างผลกระทบกับสุขภาพไม่น้อย อย่างแรกคือสุขภาพจิต บุคคลกลุ่ม Perfectionist มักมีความกังวล และกดดันตัวเอง ด้วยความคาดหวังที่จะให้ทุกอย่างมีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการป่วยอย่างโรคไบโพลาร์ โรคอะนอเร็กเซีย โรคบูลิเมีย โรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า และอาจร้ายแรงถึงขั้นเลือกที่จะจบชีวิตลงได้
อีกมุมหนึ่ง Perfectionist ยังส่งผลเสียกับสุขภาพร่างกายได้ด้วย โดยเฉพาะโรคที่มักเกิดจากการสะสมความเครียด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังสามารถส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต เช่น เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน เนื่องจากขาดความยืดหยุ่น และยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของผู้ที่เป็น Perfectionist
วิธีการปรับลดพฤติกรรม Perfectionist
พื้นฐานสำคัญในการปรับลดพฤติกรรม Perfectionist คือการปรับจิตใจให้เกิดความปล่อยวาง มากไปกว่านั้นคือเพิ่มความเห็นอกเห็นใจให้ตนเอง เชื่อว่าทุกอย่างในชีวิตสามารถปรับให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายหรือมาตรฐานที่คนเป็น Perfectionist มักจะตั้งไว้ในจุดสูงสุด พยายามเปลี่ยนมาสู่สิ่งที่ทำให้สำเร็จได้โดยไม่ต้องเครียดมากจนเกินไป และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ควรให้อภัยตนเองและผู้อื่น พร้อมกับรับฟังคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ ท้ายที่สุดเมื่อความสำเร็จเกิดขึ้น ต้องไม่ลืมที่แสดงความยินดีกับทั้งตนเองและคนรอบข้างเสมอ
เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนที่ตั้งใจทำงานอาจมีความรู้สึกอยากทำงานให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็น Perfectionist เสมอไป แต่ถ้าหากความสมบูรณ์แบบนี้ส่งผลให้เกิดอาการเครียดเกิดไป ก็ควรหาวิธีการผ่อนคลายตนเองและปรับความคิด หรือไปพบจิตแพทย์ก็ได้เช่นกัน สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-services/mind-health
แหล่งที่มาของข้อมูล
· กรมสุขภาพจิต
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30018
· โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3mhX2L4
· เว็บไซต์พบแพทย์
http://bit.ly/3KNWTcq
