ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
01 กุมภาพันธ์ 2566

ที่โสดเพราะไม่อยากมีใคร หรือเป็นโรคกลัวความรักกันแน่

 

              กลัวความสูง กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวสัตว์บางชนิด หรือกลัวสิ่งของ เชื่อว่าความกลัวเหล่านี้ที่อยู่ในกลุ่มโรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันมาบ้าง แต่ก็คงมีไม่น้อยที่จะไม่รู้จักกับ โรคกลัวความรัก (Philophobia) โดยเฉพาะคนที่ยังโสดและไม่กล้าจะเริ่มต้นความรักกับใครสักคน ดังนั้นเราจึงอยากพาทุกคนมาเช็กกันสิว่าคุณกำลังเป็นโรคนี้หรือเปล่า หรือแค่ยังไม่เจอคนที่ใช่จริง ๆ  

 

รู้จักกับโรคกลัวความรัก

                  โรคกลัวความรัก หรือ Philophobia ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นโรค แต่ที่จริงแล้วไม่ถือเป็นโรคทางการแพทย์ เป็นเพียงภาวะกลัวอย่างหนึ่งที่ในกลุ่มโรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) ซึ่งไม่ต่างจากการกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นเลย โดยผู้ป่วยโรคนี้จะกลัวการมีความรัก ทั้งในแบบที่ตกหลุมรักคนอื่นและการถูกรัก รวมถึงกลัวการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เพราะมีความกังวลว่าตัวเองจะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นั้นเอาไว้ได้หรือพูดง่าย ๆ คือกลัวว่าจะต้องเลิกกันนั่นเอง ซึ่งความกลัวที่ร่างกายแสดงออกมานั้นอาจมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้เลยทีเดียว

 

ต้นเหตุของโรคกลัวความรัก

                  สาเหตุของโรคกลัวความรักมีได้หลากหลาย และมีความคลุมเครือไม่ต่างจากความกลัวสิ่งต่าง ๆ ในโรคกลัวแบบเฉพาะ มีตั้งแต่พันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยง การทำงานที่ผิดปกติของสมอง รวมไปถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องความรักเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์กับคนในครอบครัว ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หรือเหตุการณ์ฝังใจในวัยเด็กที่แต่ละคนก็พบเจอมาต่างกัน ซึ่งบางคนสามารถเดินหน้าใช้ชีวิตอย่างปกติได้ ในขณะที่บางคนยังคงมีผลกระทบจากความเจ็บปวดที่ยังคงอยู่ในจิตใต้สำนึก

                  และอีกแง่มุมที่อาจคาดไม่ถึงว่าจะเป็นเหตุแห่งโรคกลัวความรักได้ นั่นคือการขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือ Low Self-Esteem ซึ่งมีส่วนทำให้ประเมินคุณค่าในตัวเองต่ำ มีค่าไม่พอหรือดีไม่พอที่จะมีความรัก จึงมักปิดกั้นตัวเองด้วยความกลัวว่าจะถูกปฏิเสธจากคนอื่น ๆ

 

คนกลัวความรักมีอาการอย่างไร

อาการของโรคคนกลัวความรักสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

                  1. อาการทางใจ เบื้องต้นคือไม่กล้าเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใคร หรือในกรณีที่ผ่านช่วงเริ่มต้นมาได้แล้ว ก็จะมีความกังวลในจิตใจตลอดเวลา ซึ่งเป็นต้นเหตุของการตีตัวออกห่าง และมักจบลงที่การเลิกราในที่สุด

                  2. อาการทางกาย เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เกี่ยวกับความรัก อาจเป็นการตกหลุมรัก หรือได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ก็จะส่งผลให้เกิดความปกติกับร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หายใจเร็ว หายใจตื้น รู้สึกชาบริเวณปลายมือ ปลายเท้า เหงื่อออกมาก ตัวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ร้องไห้ เป็นต้น

 

วิธีการรักษาโรคกลัวความรัก

                  แนวทางในการรักษาโรคนี้ มีทั้งการบำบัดเพื่อรักษาจิตใจ และการใช้ยาเพื่อรักษาอาการทางกาย โดยการบำบัดจะถูกเลือกให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การบำบัดพฤติกรรมทางความคิด การบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวสายตา กระบวนการลดความวิตกกังวลอย่างมีระบบ การบำบัดด้วย Hypnotherapy การสะกดจิต เป็นต้น ส่วนการใช้ยา แพทย์อาจพิจารณายาในกลุ่มโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลร่วมในการรักษาด้วย โดยเฉพาะรายที่มีความวิตกกังวล ความเครียด หรือความซึมเศร้าในระดับสูง

                  และสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทำพร้อมไปกับรักษา คือการปรับชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ ลองเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้แตกต่างจากเดิม หากิจกรรมใหม่ ๆ ทำ หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว และพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความกลัวและความรักว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน   

 

หากใครที่พบว่าคนใกล้ชิดมีอาการใกล้เคียงหรือเข้าข่ายที่จะเป็นโรคกลัวความรัก แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับคำวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่ต้องการรับคำวินิจฉัยเบื้องต้น สามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3DN1W9u

·       เว็บไซต์ดอกเตอร์รักษา
https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/philophobia.html

·       เว็บไซต์เพื่อสุขภาพ
https://bit.ly/3xGHRxZ

บทความสุขภาพที่สำคัญ