ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
07 เมษายน 2566

คู่มือคุณแม่มือใหม่ วิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

การเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และการแข่งขันที่สูงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะผลส่งกระทบโดยตรงต่อสภาวะจิตใจของคุณแม่มือใหม่ เมื่อรวมกับสภาพร่างกายที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดแล้วก็อาจนำไปสู่สภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

 

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นได้อย่างไร

              ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ (Maternity Blue) เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอดและอาจมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ ทำให้คุณแม่มีอาการซึมเศร้า เสียใจ วิตกกังวล รู้สึกหดหู่โดยไม่มีสาเหตุ คุณแม่จำนวน 1 ใน 6 มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดตั้งแต่ช่วง 2-3 วันแรกไปจนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด โดยคุณแม่ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นมักจะได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

·       มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อนหน้า

·       คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีปัญหาการควบคุมอารมณ์

·       มีปัญหาความเครียดจากเรื่องต่าง ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา

·       ทารกมีปัญหาสุขภาพทำให้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหรืออย่างใกล้ชิด

·       มีปัญหาเรื่องการให้นมบุตร

·       ครอบครัวมีปัญหาด้านการเงิน

·       ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

                 

อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

โดยปกติแล้วคุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าก็จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าหากผ่านไป 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพจิตของคุณแม่เองและคนใกล้ชิดในครอบครัว โดยคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการดังต่อไปนี้

•       รู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง

•       อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข

•       วิตกกังวลมากผิดปกติ

•       มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น

•       ร้องไห้มากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล

•       มีปัญหาเรื่องสมาธิ การจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ

•       หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรก

•       รับประทานอาหารน้อยลง หรือรับประทานมากขึ้นอย่างผิดปกติ

•       มีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น

•       เก็บตัว หรือหลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อนและคนในครอบครัว

•       มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก

•       กังวลไปว่าตนเองไม่มีความสามารถในการดูแลลูกอยู่บ่อย ๆ

•       มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย

 

คุณพ่อมือใหม่ก็เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน

              ไม่ใช่แค่คุณแม่ที่มีโอกาสมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเท่านั้น คุณพ่อเองก็มีโอกาสเผชิญกับสภาวะนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะคุณพ่อที่อายุยังน้อยหรือเป็นคุณพ่อมือใหม่ อาจได้รับความกดดันจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงคุณพ่อที่มีปัญหาด้านการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์ หรือมีประวัติโรคซึมเศร้าอีกด้วย

 

วิธีการรับมือและวิธีการรักษา

              ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาสุขภาพ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความอ่อนแอหรือความบกพร่องของคุณแม่ เมื่อเกิดอาการขึ้นควรเข้ารับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์ หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แพทย์ก็มักจะเริ่มต้นจากการใช้วิธีการทำจิตบำบัด โดยเริ่มต้นจากการให้ป่วยได้พูดถึงปัญหาและระบายความรู้สึกออกมาให้กับแพทย์ฟัง แพทย์ก็จะพูดคุยพร้อมแนะนำวิธีการรับมือกับปัญหาและให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยวิธีการให้ยาต้านเศร้า แต่แพทย์มักจะพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจากตัวยาอาจปนเปื้อนไปกับน้ำนมได้ ไม่เพียงเท่านี้ผู้ป่วยยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ เช่น

•       เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น น้ำผักผลไม้คั้นสด ที่จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่น พร้อมได้รับสารอาหารและวิตามินต่าง ๆ มาบำรุงร่างกายอีกด้วย

•       ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

•       จัดเวลาพักระหว่างวัน

•       ให้คุณพ่อหรือคนใกล้ชิดช่วยดูแลลูก

•       ระบายความรู้สึกให้คนสนิทฟัง

•       ให้เวลาส่วนตัวกับตัวเอง

•       ลดการรับข่าวสาร

 

การมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของคุณแม่ด้วย หากเข้าใจสภาวะการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงความรักและความร่วมมือจากคนในครอบครัว ก็จะช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้แน่นอน สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3VDAAII

·       โรงพยาบาลศิครินทร์
https://www.sikarin.com/health/postpartum-depression

·       โรงพยาบาล MedPark
https://www.medparkhospital.com/content/postpartum-depression

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3ugCNOy

 

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ