ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
17 สิงหาคม 2565

คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง RSV ไวรัสตัวร้าย อันตรายต่อลูกน้อย

มีเชื้อโรคมากมายที่มาพร้อมกับสายฝน หนึ่งในนั้นคือเชื้อไวรัส RSV ที่เป็นไวรัสยอดฮิตที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง เพราะเป็นไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่าย ถึงแม้จะพบผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ได้ทุกวัย แต่ที่พบมากและเป็นอันตรายมากที่สุดคือผู้ป่วยกลุ่มเด็กเล็ก วันนี้เราจึงอยากมาแชร์ความรู้ และสัญญาณเตือนบ่งบอกอาการของโรค เพื่อที่พ่อแม่ทุกคนจะได้เตรียมรับมือได้ทัน

 

เชื้อไวรัส RSV คืออะไร

            RSV คือไวรัสที่มีชื่อว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งออกมาจำนวนมาก เช่น เสมหะ เป็นต้น RSV แม้จะเป็นเชื้อที่สามารถติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายผ่านการไอและการจาม แต่จะเป็นที่รู้จักมากในกลุ่มพ่อแม่ เพราะมักพบอาการป่วยจากเชื้อไวรัส RSV มากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมีอาการรุนแรงในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี

                ไวรัสชนิดนี้จะลงไปที่หลอดลมฝอยหรือที่ตัวเนื้อปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ ดังนั้นหากเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 3 เดือนติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ อาจทำให้เกิดอาการหยุดหายใจได้ นอกเหนือจากนั้นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหาร ถือว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส RSV สูงมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น

 

การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

                ไวรัส RSV ติดต่อจากการไอจาม โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เชื้อไวรัสจะผ่านเข้าทางจมูก ปาก และเยื่อบุตา และยังสามารถรับเชื้อจากการสัมผัสของ เช่น ของเล่น ภาชนะ เฟอร์นิเจอร์ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เชื้อไวรัส RSV สามารถอาศัยอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของได้ยาวนานเป็นวันหากไม่มีการทำความสะอาด และสามารถอาศัยอยู่บนมือได้อย่างน้อย 30 นาที ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน

 

อาการและความแตกต่างของ RSV กับ โรคหวัดธรรมดา

            อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ถึงแม้จะมีอาการใกล้เคียงกับโรคหวัด แต่ก็มีความรุนแรงและยาวนานกว่ามาก ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 5 วัน ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในช่วงระหว่าง 4-6 วัน โดยช่วงแรกจะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคหวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล  ไอแห้ง เจ็บคอ ปวดศีรษะ

                แต่หากอาการเริ่มรุนแรงขึ้นจะส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเริ่มมีปัญหาและก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมฝอยอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการลูกอย่างใกล้ชิด เมื่อลูกเริ่มมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

-           มีไข้สูงเกินกว่า 39-40 องศาติดต่อกันหลายวัน

-           ไอรุนแรง

-           หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม

-           น้ำมูกเหนียว ทำให้หายใจลำบาก

-           มีเสมหะมาก เสมหะมีสีเทา เขียวหรือเหลือง

-           หายใจมีเสียงหวีด

-           เบื่ออาหาร

-           หงุดหงิดง่ายหรือเซื่องซึม

-           บริเวณปากหรือเล็บมีสีเขียวคล้ำจากสถาวะขาดออกซิเจน

-           มีผื่นขึ้น

-           มีภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากตอนร้องไห้จะไม่มีน้ำตาไหล

เมื่อลูกมีสัญญาณอาการรุนแรงดังที่กล่าวมาควรรีบพบแพทย์ทันที

               

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะเริ่มต้นตรวจสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยก่อน โดยใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อฟังเสียงหวีดในระบบทางเดินหายใจ เสียงการทำงานของปอด หรือเสียงผิดปกติจากส่วนอื่น ๆ จากนั้นแพทย์อาจใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

-           วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) เพื่อตรวจระดับออกซิเจน

-           ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ตรวจหาไวรัส แบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ

-           เอกซ์เรย์หน้าอก เพื่อตรวจหาโรคปอดบวม

-           ตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก

 

การรักษา

            ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส RSV ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีรักษาตามอาการ เพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ดีขึ้น โดยสามารถดูแลและรักษาอาการได้ที่บ้าน ดังนี้

-           เพิ่มความชื้นในอากาศโดยใช้เครื่องพ่นไอน้ำ แต่ไม่ควรให้ค่าความชื้นมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นควรเลือกเครื่องพ่นไอน้ำที่สามารถวัดค่าความชื้นภายในห้องได้ เพื่อให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้ดีขึ้น และป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในอากาศ เนื่องจากเชื้อราและแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะเชื้อราที่โดยปกติทั่วไปแล้วในอากาศจะมีสปอร์ของราลอยอยู่ ซึ่งมีขนาดเล็กมากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อสปอร์ของราลอยไปตกในที่ที่ความชื้นพอเหมาะก็สามารถเจริญเติบโตมาเป็นรอบคราบสีดำที่เราเห็นนั่นเอง

-           ให้ลูกอยู่ในอิริยาบถที่หายใจสะดวก เช่น นั่งตัวตรง ไม่ห่อตัว ใช้หมอนที่ไม่นุ่มหรือไม่แข็งจนเกินไป

-           ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดความหนืดเหนียวของสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ หรือ น้ำมูก ทำให้ไม่อุดตันและขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ

-           ใช้ยาหยอดจมูก เพื่อลดการบวมของจมูก อาจใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อให้หายใจได้โล่งขึ้น

-           รับประทานยากลุ่มอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้

 

แต่หากลูกเริ่มแสดงสัญญาณอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที โดยแพทย์จะใช้รูปแบบการรักษา ดังนี้

-           จ่ายยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย

-           ใช้ยาพ่นขยายหลอดลม เพื่อลดอาการหายใจมีเสียงหวีด และดูดเสมหะเมื่อมีเสมหะข้นเหนียวจำนวนมาก เพื่อให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น

-           แพทย์อาจใช้เอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อขยายหลอดลมและลดการบวมของทางเดินหายใจ

-           อาจจะให้ออกซิเจน หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว

 

ภาวะแทรกซ้อน

            อัตราการเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มีไม่มาก เพราะเชื้อไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคร้ายแรง แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

-           โรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบ โดยไวรัสจะเคลื่อนตัวจากระบบทางเดินหายใจช่วงบน ได้แก่ จมูก คอ ปาก ลงไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนทำให้เกิดอาการอักเสบที่ปอดหรือทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงเนื่องจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงจากโรคนี้ได้

-           ติดเชื้อในหูชั้นกลาง เนื่องจากเชื้อเข้าไปในบริเวณหลังแก้วหู ทำให้เกิดหูน้ำหนวก พบมากในเด็กทารกและเด็กเล็ก

-           โรคหอบหืด ในระยะยาวเชื้อไวรัส RSV อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดได้

-           การติดเชื้อซ้ำ มีความเป็นไปได้ที่เมื่อติดเชื้อครั้งหนึ่งแล้ว อาจจะกลับมาติดซ้ำได้ แต่อาการจะไม่หนักเท่าครั้งแรก อาจพบอาการรุนแรงในกลุ่มที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ

 

วิธีการป้องกัน

-           รักษาสุขลักษณะ ฝึกให้ลูกใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือมือปิดปากและจมูกขณะไอจาม หมั่นล้างมือให้สะอาดและบ่อยครั้ง เช่น ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

-           ฝึกใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อ

-           หลีกเลี่ยงให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วง 1-2 เดือนสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หรือเป็นหวัด

-           หมั่นทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ ทำความสะอาดของเล่นและที่นอนลูกบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ควรทิ้งทิชชูที่ใช้แล้วลงถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด

-           รักษาความสะอาดโดยให้ทุกคนที่ต้องการสัมผัสตัวเด็กล้างมือให้สะอาดก่อน โดยใช้สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพราะผู้ใหญ่อาจจะนำเชื้อจากนอกบ้านเข้ามาสู่เด็กได้

-           ไม่ควรให้ลูกใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น ควรมีแก้วเป็นของตัวเอง

-           หลีกเลี่ยงไม่พาลูกไปสถานที่แออัดพลุกพล่าน ควรพาไปสถานที่โล่ง มีอากาศถ่ายเ­ทได้สะดวก หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกจับสิ่งของสาธารณะต่าง ๆ หากจับต้องรีบล้างมือทันที

-           ในช่วงที่เกิดการระบาดควรหลีกเลี่ยงจุดที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เนอสเซอรี่ สถานที่ที่มีเด็กรวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น บ้านบอล หรือสนามเด็กเล่น

-           ให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

-           หากลูกมีอาการป่วยควรหยุดเรียน

 

เราจะได้ยินข่าวการระบาดของเชื้อไวรัส RSV ทุก ๆ ปี และหากวันหนึ่งที่ป่วยคือลูกของเราคุณพ่อคุณแม่ก็คงรู้สึกกังวลใจไม่น้อย การทำความเข้าใจธรรมชาติของโรคและรู้วิธีป้องกันรักษาจะช่วยผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาความเจ็บป่วยของลูกน้อยได้ เมื่อลูกมีความสุขคุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจเช่นกัน

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตที่มีอาการเล็กน้อย และต้องการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ สามารถใช้บริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·         งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3l5hSK1

·         โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://www.bangkokhospital.com/content/respiratory-syncytial-virus

·         โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/rsv

·         โรงพยาบาล MedPark
https://www.medparkhospital.com/content/rsv

·         โรงพยาบาลวิชัยเวช
https://bit.ly/3KPW1ka

·         เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3OY0k05

·         คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3a9FT0c

บทความสุขภาพที่สำคัญ