ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
07 กันยายน 2565

ความเครียด อันตรายกว่าที่คิด รีบรักษาก่อนส่งผลต่อสุขภาพ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 และสภาวะความผันผวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ ข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน จนเกิดความเครียดสะสมและส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน ดังนั้นการทำความเข้าใจและรู้วิธีรับมือกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดี

มารู้จักโรคเครียดกันก่อน

              โรคเครียด คือ ภาวะการเผชิญกับความกดดันจากเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ โดยร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยสภาวะการสู้หรือหนี (Fight-or-Flight) ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ กล้ามเนื้อหดตัว และความดันโลหิตสูง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดจะรู้สึกกังวล ฟุ้งซ่าน หวาดระแวงกับสถานการณ์กระตุ้น และอาจถึงขั้นฝันร้ายได้ โดยปกติจะมีอาการประมาณหนึ่งเดือน แต่หากนานกว่านั้นอาจจะกลายเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD ได้

อาการของโรคเครียด

โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะมีอาการทันทีหลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งแบ่งระดับอาการได้ 4 ระดับ

1.        ความเครียดต่ำ - รู้สึกเบื่อหน่าย ตอบสนองเชื่องช้า ขาดแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต

2.        ความเครียดระดับปานกลาง – อารมณ์ขุ่นมัว ไม่ร่าเริงแจ่มใส วิตกกังวล ระดับนี้ยังเป็นความเครียดในระดับปกติ สามารถหากิจกรรมช่วยผ่อนคลายได้

3.        ความเครียดระดับสูง - เป็นความเครียดที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์รุนแรง เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ปวดท้อง นอนไม่หลับ เป็นต้น

4.        ความเครียดระดับรุนแรง – ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่าง ๆ เช่น มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์

ผลกระทบของความเครียดต่อร่างกาย ความรู้สึกและพฤติกรรม

โดยทั่วไปความเครียดมักเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน และสะสมจนแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ

•       ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

o   กล้ามเนื้อหดตัว ทำให้ปวดหลัง ปวดต้นคอ มีปัญหาเกี่ยวกับเอ็นตามกล้ามเนื้อ

o   ร่างกายตื่นตัวมาก ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น มือเท้าเย็น เหงื่อออกตามฝ่ามือ เวียนศีรษะ ปวดไมเกรน หายใจไม่สุดและเจ็บหน้าอก

o   อ่อนเพลีย และแรงขับทางเพศลดลง

o   ปวดท้องและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

o   มีปัญหาการนอน ฝันร้าย นอนไม่หลับ นอนไม่เต็มอิ่ม

o   ผมร่วง

o   หนังตากระตุก

•       ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์

o   วิตกกังวล ฟุ้งซ่าน

o   รู้สึกกดดันอยู่เสมอ และตื่นตัวง่ายกว่าปกติ

o   ไม่มีสมาธิ รวมถึงไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ชอบทำก็ตาม

o   ซึมเศร้า รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว

o   อารมณ์แปรปรวนง่าย

•       ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม

o   รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ

o   โกรธง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวและก้าวร้าวรุนแรง

o   สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ

o   ปลีกวิเวก ไม่เข้าสังคม ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง

o   ทำกิจกรรมต่าง ๆ และเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง

o   มึนงงหลงลืม ไม่มีสติหรือไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวเอง สมาธิสั้น

วิธีการรักษาและการป้องกัน

·       สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจว่าแตกต่างไปจากปกติหรือไม่

·       ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการมองสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าใจ และมองหาพลังบวกจากสิ่งที่เกิดขึ้น

·       ฝึกทักษะการสื่อสาร บอกความต้องการและความรู้สึกกับคนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น

·       ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวให้ได้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น

·       หากิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและผ่อนคลายความเครียด

·       หากไม่สามารถจัดการความเครียดด้วยตัวเองได้ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินระดับอาการและรับการรักษาที่เหมาะสม

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการรับมือและจัดการความเครียดแตกต่างกันออกไป และพลังใจก็คือเชื้อเพลิงสำคัญในการขับเคลื่อนพลังกาย การหมั่นสำรวจและดูแลจิตใจของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลบำรงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stress

·       โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3LwROCn

·       โรงพยาบาลเพชรเวช
https://bit.ly/3qKJcQT

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3LwROCn

บทความสุขภาพที่สำคัญ