ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
04 ตุลาคม 2565

เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวสุข เป็นไบโพลาร์หรือไม่ เช็กกัน

ความทุกข์และความสุขเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ แต่หากเมื่อไหร่ที่การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทั้งสองขั้วเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและแปรปรวน ทั้งยังทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิต นั่นคือสัญญาณที่คุณหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเป็นไบโพลาร์

 

ไบโพลาร์คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

              ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว คืออาการที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของอารมณ์อย่างเด่นชัด ซึ่งมีสาเหตุมาจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล ผู้ป่วยจะมีอาการอารมณ์ดีหรือมีสภาวะตื่นตัวมากกว่าปกติ (Mania) สลับกับภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใด ๆ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไบโพลาร์จัดออกได้เป็น 3 ประการ

1.        ปัจจัยทางชีวภาพ – เกิดขึ้นเมื่อสารสื่อประสาท 3 ชนิด ได้แก่ นอร์อะดรีนาลีน เซโรโทนิน และโดปามีน อยู่ในระดับที่ไม่สมดุลกัน รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย , การนอนหลับที่ผิดปกติ, ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ เป็นต้น

2.        ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ – ถึงแม้ยังไม่มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนปัจจัยนี้ออกมาอย่างแน่ชัด แต่มีรายงานว่าผู้ป่วยไบโพลาร์มักจะมีญาติหรือคนในครอบครัวที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะญาติที่มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงทางสายเลือด

3.        ปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ – หากผู้ป่วยได้รับแรงกระตุ้นจากภายนอกที่มากระทบจิตใจ เช่น ความผิดหวัง หรือเสียใจอย่างรุนแรงฉับพลัน หรือ อาการเจ็บป่วยทางร่างกาย ก็อาจนำไปสู่โรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน

             

กลุ่มอาการและลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของโรคไบโพลาร์

อาการของโรคไบโพลาร์สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มกว้าง ๆ ได้ 2 กลุ่ม

1.Major Depressive Episode หรือภาวะซึมเศร้า เป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีการอย่างน้อย 1 ข้อ ที่แสดงถึงภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข

-           รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า ไม่มีความสุข แสดงออกโดยอาจร้องไห้ หรือหงุดหงิดในวัยเด็ก ซึ่งจะมีอาการในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของวันและเป็นเกือบทุกวัน

-           ความสนใจหรือใส่ใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือทั้งหมดลดลง

-           น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ

-           นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ

-           กระสับกระส่าย เชื่องช้า เซื่องซึม อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

-           รู้สึกตัวเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่สมเหตุสมผล

-           สมาธิหรือความสามารถในการคิดเรื่องต่าง ๆ ลดลง ตัดสินใจอะไรไม่ได้

-           คิดถึงเรื่องการตายอยู่เสมอ

 

2. Manic/ Mania Episode หรือภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ คือช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงอารมณ์ออกมาโดยไม่มีการควบคุม หรือรู้สึกหงุดหงิดผิดปกติ และมีอาการคงอยู่ชัดเจนติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จะมีอาการอย่างน้อย 3 อาการ

-           มีความเชื่อมั่นมากขึ้น หรือคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ มีความสามารถ

-           มีความต้องการนอนลดลง

-           พูดคุยมากกว่าปกติ หรือพูดไม่หยุด

-           ความคิดแล่นมาก คิดมากหลายเรื่องพร้อม ๆ กัน

-           ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย

-           มีกิจกรรมทีมีจุดหมายเพิ่มมากขึ้น

-           หมกมุ่นกับกิจกรรมที่ให้ความเพลินเพลินแต่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาตามมาก เช่น การใช้จ่ายแบบไม่ยั้ง การลงทุนทำธุรกิจโดยขาดการไตร่ตรอง

 

ในระยะ Mania มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจะกินเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวเนื่องจากเขาจะมองว่าตนเองนั้นอารมณ์ดีหรือแค่ขยัน รวมถึงคนรอบข้างด้วย ต่างจากอาการซึมเศร้าที่ผู้ป่วยจะรู้ตัวเองว่าเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งคนใกล้ชิดก็สามารถสังเกตได้เช่นกัน สำหรับอาการนั้นจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงขึ้นที่ก้าวร้าวจนต้องพามาพบแพทย์ โดยในช่วงแรกอาการจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเจอกับเรื่องกดดันแต่เมื่อนานไป อาการจะสามารถเกิดขึ้นได้เองแม้ไม่มีตัวกระตุ้น

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

                  โรคไบโพลาร์อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคผิดปกติด้านการกิน โรคทางจิตอื่น ๆ โรคไมเกรน โรคเบาหวาน โรคสมาธิสั้น และโรคอ้วน นอกจากนี้พฤติกรรมที่เกิดจากความแปรปรวนของอารมณ์มักจะสร้างปัญหาและส่งผลต่อประสิทธิภาพต่อการเรียน การทำงาน การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมไปถึงอาจจะรุนแรงถึงขั้นใช้ยาเสพติด เกิดปัญหาอาชญากรรมและการทำร้ายตัวเองได้

 

โรคไบโพลาร์ก็เพียงอาการป่วยชนิดหนึ่งที่แพทย์สามารถดูแลและรักษาได้ ดังนั้นเมื่อคุณหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีอาการอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ควรที่จะเข้ารับคำปรึกษาและความช่วยเหลือต่อผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะตามมา สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3xjBBfX

·       โรงพยาบาลรามคำแหง
https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1727

·       โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://www.bangkokhospital.com/content/2-types-bipolar-disorder

·       โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/bipolar-disorder

·       โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3m95GYW

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3aqb6w2

             

บทความสุขภาพที่สำคัญ